70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอน 3) พะเยา -พิษณุโลก-แม่ฮ่องสอน

30 ต.ค. 2559 | 06:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาท ฉบับนี้ จะปิดทริป 5 เส้นทางที่เหลือในพื้นที่ภาคเหนือ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) แนะนำให้คุณได้ร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ต่างทุ่มเททรงงานหนัก ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน

[caption id="attachment_109206" align="aligncenter" width="500"] ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง[/caption]

เริ่มจากเมืองในสายหมอก แหล่งท่องเที่ยวตามรอยพระบาท ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ณ “ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง” จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯมาประทับแรมที่พระตำหนักปางตองครั้งแรกในปี2524 ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ออกมาเพิ่มเติมถึง 4 พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ห้วยมะเขือส้ม, ปางอุ๋ง, แม่สะงา-หมอกจำแป่ และพระตำหนักปางตอง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้บนพื้นที่สูง ที่ซึ่งชุมชน คน และป่าอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี กับหลายโครงการในการพัฒนาส่งเสริมอาชีพบนพื้นที่สูง การเพาะเลี้ยงสัตว์ ขยายพันธุ์สัตว์ป่า การอนุรักษ์จัดการพื้นที่ป่า และการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังน้ำ

ดังนั้นที่นี่จึงไม่ได้มีดีแค่ปางอุ๋ง ให้คุณได้ชื่นชมสายหมอกยามเช้า ที่ป่าสนริมอ่างเก็บน้ำปางอุ๋งเท่านั้น กิจกรรมห้ามพลาดเมื่อมาเยือน คือ การเดินลัดเลาะเนินเขา ข้ามลำธารขึ้นไปชมพระตำหนักปางตอง ซึ่งเป็นเรือนประทับแรมไม้ 6 หลัง ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้บนไหล่เขา และการชมฝูงแกะและฝูงม้าที่ลานทุ่งหญ้ากว้าง รวมถึงสัตว์ป่าหาดูยากกว่า 30 ชนิด อย่างเสือลายเมฆ ด้วย

เส้นทางตามรอยพระบาทอีกแห่งในจ.แม่ฮ่องสอน คือ “ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย”(ท่าโป่งแดง) ซึ่งลุ่มน้ำปาย ถือเป็นจุดแรกที่กรมชลประทานใช้พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแม่ฮ่องสอนตามโครงการในพระราชดำริ เป็นศูนย์เรียนรู้สู่การขยายผลเพื่อชุมชน คนและป่า ทำให้โครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายแห่งนี้ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เดินทางง่ายเพียง 10 นาทีจากตัวเมือง คุณก็จะได้สัมผัสธรรมชาติอากาศบริสุทธิ์ และสารพันความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ใน 9 ฐาน ให้ได้เรียนรู้เรื่องของป่าไม้ การจัดการไฟป่า การจัดการน้ำ ดินและปุ๋ย ข้าว พืช ประมง ปศุสัตว์ และการจัดการฟาร์ม

ด้วยทัศนียภาพที่งดงามของย่านปังค่า ซึ่งตั้งอยู่ภายในวนอุทยานแห่งชาติภูลังกา ทำให้ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ลานหินล้านปี นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของการมาเยือน” ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า”ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นโครงการหลวงหนึ่งเดียวในจ.พะเยา โครงการพระราชดำริที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ ท่ามกลางภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาและภูเขาสูง รูปแบบการเกษตรจึงเป็นแบบเมืองหนาว ภายใต้ภารกิจสำคัญเพื่อสืบต่อการดูแลชาวเขาเผ่าเย้าและม้งจำนวนมากในพื้นที่ กับการทำเกษตรกรรมและจัดหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมให้ในการทำกิน มานี่กิจกรรมห้ามพลาด คือ การชมทะเลหมอก การจัดแสดงวัฒนธรรม ศิลปะและงานหัตถกรรมชาวเขา ภายในโครงการ และที่นี่ยังจัดจำหน่ายลิ้นจี่คุณภาพดีราคาย่อมเยา จากสวนลิ้นจี่มากกว่า 2,000 ไร่

สมรภูมิรบในอดีต ณ บ้านร่มเกล้า ที่พลิกโฉมเป็น “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า” อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก จากพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทำให้ที่แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ใกล้จะศูนย์พันธ์และหาชมได้ยากเอาไว้มากมาย อาทิ สร้อยสยาม ที่ผลิดอกตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ต้นกุหลาบพันธ์ปี ต้นค้ออายุ 100 ปี หากใครอยากหยุดเวลาไว้กับค่ำคืนที่ดาวเต็มฟ้า และสายหมอกลอยละล่องท่ามกลางขุนเขาเขียวขจี ที่นี่มีลานกว้างสำหรับกางเต็นท์ใกล้กับจุดชมวิว ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 200 คน

[caption id="attachment_109207" align="aligncenter" width="500"] โครงการพัฒนาป่าไม้ ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า โครงการพัฒนาป่าไม้ ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า[/caption]

ปิดทริปเส้นทางสุดท้ายในพื้นที่ภาคเหนือ กับ “โครงการพัฒนาป่าไม้ ตามแนวพระราชดำริ ภูหินร่องกล้า” อ.นครไทย จ.พิษณุโลก แหล่งเรียนรู้การพัฒนาป่าไม้เพาะชำกล้าไม้หายากที่ควรอนุรักษ์พันธุกรรมไว้เพื่อปลูกตามแนวพระราชดำริ ที่นี่มีแปลงปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า แปลงสาธิตการปลูกสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน ทั้งในพื้นที่โครงการยังมีจุดเด่นของแนวหินผา เป็นจุดชมวิวถึง 6 จุด อย่างผาไททานิค ผาพบรัก ผาบอกรัก ผาคู่รัก ผารักยั่งยืน และผาสลัดรัก ให้คุณได้ยืนชมทิวทัศน์ผืนป่าเขียวชอุ่ม ไม่เพียงแค่ทุ่งดอกกระดาษและหน้าผาแห่งรักเท่านั้น ในช่วงฤดูหนาวที่นี่ยังเป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทยผลิบานอีกหนึ่งจุดด้วยนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559