ธุรกิจรีเทลสุขภาพและความงามกว่า2หมื่นล้านแข่งเดือด

23 ต.ค. 2559 | 12:41 น.
ตลาดรีเทลสุขภาพและความงาม เป็นตลาดที่กำลังไปได้สวย มีการเติบโตที่ดี แบรนด์ ผู้นำตลาด ขณะนี้ มีทั้ง ร้านบู๊สท์ ของบริษัท บู๊ทส์ รีเทล (ประเทศไทย) ร้านวัตสัน ของบริษัท เซ็นทรัล วัตสัน จำกัด ร้านซูรูฮะ บริษัท ซูรูฮะ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือสหพัฒน์ และ บิวตี้ บุฟเฟต์ ของนายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) มูลค่าตลาดโดยรวมสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักเกือบทุกปี โดยปัจจุบันไม่มีแบรนด์ไหนออกมาพูดถึงส่วนการตลาดที่ชัดเจน

IMG_8220 (1) “มัทสึโมโตะ คิโยชิ” (Matsumoto Kiyoshi ) หรือร้านป้ายเหลือง ร้านเพื่อสุขภาพและความงามอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ขยายธุรกิจออกสู่ตลาดต่างประเทศครั้งแรก ด้วยการจับมือ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้าน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ บุกตลาดในไทย กำลังจะเปิดสาขาล่าสุด ที่เซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 เจาะกลุ่มผู้หญิงรักสวยรักงาม ใส่ใจตัวเอง และรักสุขภาพ หลังเปิดให้บริการไปแล้ว ที่เซ็นทรัล เวสเกต โดยมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมาย 2 สาขาภายในสิ้นปีนี้ โดยสาขาจะเปิดในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ และจะเพิ่มสาขาครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป

การจับมือระหว่าง บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล และ บริษัท มัทสึโมโตะ คิโยชิ จำกัด เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ธุรกิจร้านสุขภาพและความงาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับสาขาแรกของมัทสึโมโตะ คิโยชิ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา สาขาลาดพร้าว ใช้พื้นที่ 270 ตารางเมตร แผนต่อไป คือการเปิดสาขา 2 ที่เซ็นทรัลพลาซา สาขาปิ่นเกล้า

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของรีเทลสุขภาพและความงามส่วนใหญ่ ยังเน้นไปที่เวชสำอาง เครื่องสำอาง อาหารเสริม ล่าสุด กลุ่มทิปโก้ ฟูดส์ กำลังพยายามสร้างแบรนด์ด้านอาหารสุขภาพ ประเทศออแกนิก เข้าสู่ตลาด โดยเริ่มแล้ว ด้วยแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพ "ออกัส" ที่อาคารเมอร์คิวรี่ ชิดลม ตามโมเดิร์นเทรด และรีเทลของทิปโก้ ฟูดส์เอง และยังมี ร้านเครื่องดื่มประเภท สมูทตี้ แบรนด์ สควีซ บาร์ ที่ซันโตรี่ร่วมถือหุ้นด้วย 25% ผ่านบริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี

ทั้ง 2 แบรนด์นี้ นายเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) จำกัด กล่าวว่า มีแผนจะขยายสาขามากขึ้น โดย ร้านเครื่องดื่มสมู้ทตี้ แบรนด์ สควีซ บาร์ จะขยายในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่เพียง 8 สาขา จากจำนวนสาขาทั้งหมด 60 สาขา และจะขยายเพิ่มให้ได้ 100 สาขา โดยแบ่งสัดส่วนเป็นแฟรนไชส์ 50% นอกจากนี้ ทิปโกฯ ยังพัฒนาทิปโก ฟูดส์ ซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่เริ่มเปิดร้านจำหน่ายสาขาแรกแล้ว ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย โดยจะเน้นการทำตลาดในลักษณะดิลิเวอรี่ต่อไปในอนาคต

สำหรับภาพการแข่งขันของรีเทลสุขขภาพและความงามที่เป็นเจ้าตลาด อย่าง วัตสัน ยังคงมองเรื่องการขยายสาขา ปีนี้ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ 350 ล้านบาทในการขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 50 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 15 สาขา และต่างจังหวัด 35 สาขา

บู๊ทส์ วางแผนเปิดสาขาใหม่ประมาณ 30 แห่ง จากปีที่แล้วเปิด 30 สาขา ปัจจุบันมีสาขาในไทยรวม 227 แห่ง และยังมีการรีโนเวตสาขาเดิม ปรับโฉมสาขาให้มีความสดใหม่ และบางสาขาก็ขยายพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมทั้ง เปิดตัว “บู๊ทส์ โบทานิคส์” ผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลผิว โดยร่วมมือกับสวนพฤกษศาสตร์ เดอะ รอยัล โบทานิคส์ การ์เด้นส์ คิว นำมาจากส่วนผสมของพันธุ์ไม้ธรรมชาติจากประเทศต่างๆ เช่น ชิลี เบลเยียม บูร์กิโนฟาโซในแอฟริกาตะวันตก จีน เป็นต้น มาสกัดเป็นส่วนผสมในการผลิต

ด้านซูรูฮะ มีจำนวนประมาณ 24 สาขา และยังคงเดินหน้าเพิ่มสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) (BEAUTY) ปัจจุบันมีสาขาทุกแบรนด์รวม 316 สาขา ทั้งนี้ปี 2559 มีแผนจะเพิ่มสาขา BEAUTY BUFFET จำนวน 30 สาขา BEAUTY COTTAGE จำนวน 15 สาขา และ BEAUTY MARKET จำนวน 5 สาขา ส่วนตลาดต่างประเทศ มีแผนขยายสาขาที่เป็น Independent shop จำนวน 18 สาขา จากปัจจุบัน 32 สาขา

จากภาพการแข่งขันที่ดุเดือดของรีเทลสุขภาพและความงาม ซึ่งปัจจุบัน เน้นการสร้างแบรนด์ และการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ รวมไปถึงการจัดโปรโมชั่น คาดว่าตลาดในอนาคตแต่ละแบรนด์ จะต้องหันมาใหความสำคัญ สร้างจุดต่างของตัวเองให้เด่นชัด เช่นเดียวกับทิปโก้ ฟูดส์ ที่ผู้บริหารกล่าวชัดเจนว่า ไม่เน้นการขยายสาขาจำนวนมากๆ แต่จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า และการเข้าถึงไลฟ์สไตล์และความต้องการด้านสุขภาพจริงๆ ของผู้บริโภค และเพื่อความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ ด้วยการขยายไลน์ธุรกิจอย่างครอบคลุมตั้งแต่ต้นนำ ยันปลายน้ำ โดยอีกหนึ่งธุรกิจที่กลุ่มทิปโก้ฟูดส์เริ่มทำแล้วคือ ธุรกิจสารสกัด เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอาง ยา และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ส่งออกขายประเทศญี่ปุ่น มีรายได้เกือบ 100 ล้านบาท แต่ทิปโก้ฟูดส์ จะไม่ผลิตโปรดักส์ด้านความงามเอง