70 เส้นทางตามรอยพระบาท (ตอน 2) เกษตรชุมชนเชียงราย-น่าน

26 ต.ค. 2559 | 02:00 น.
70 เส้นทางตามรอยพระบาท ฉบับนี้ ยังอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ กับ 5 เส้นทาง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) แนะนำให้คุณได้ร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ต่างทุ่มเททรงงานหนัก ให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน

จากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงแก้ปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขามาโดยตลอด จากจุดนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชประสงค์ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของชนเผ่าอาข่า ลาหู่ จีนก๊กมินตั๋ง ไทใหญ่ ไทลื้อ และไทลัวะ มากกว่า 1.1 หมื่นชีวิต ที่อาศัยอยู่ครอบคลุมพื้นที่อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สาย ให้มีคุณภาพชีวิต และอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยภูเขาและชาวไทยภาคเหนือให้คงอยู่ต่อไป

[caption id="attachment_107810" align="aligncenter" width="500"] โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการพัฒนาดอยตุง[/caption]

ทำให้จากอดีตถึงวันนี้“โครงการพัฒนาดอยตุง” จ.เชียงราย จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เผยความงดงามทั้งทัศนียภาพ และวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบสานรวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนแวะเวียนมาชมพระตำหนักดอยตุง ที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จย่า ช็อปผลิตภัณฑ์งานฝีมือของดอยตุง และจิบกาแฟดอยตุง รสเยี่ยม สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางนานาพรรณไม้ที่งอกงามร่มรื่นอย่างไม่ขาดสาย

เพราะการพัฒนาการเกษตรอย่างถูกวิธี จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนและสร้างรากฐานอาชีพภายในชุมชนอย่างมั่นคง ทำให้“ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง”จ.เชียงรายที่ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี2550 มีสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร โดยเน้นการปลูกผักภายใต้โรงเรือนและลดการใช้สารเคมีรวมถึงการเลี้ยงสัตว์ อย่าง กระต่าย แพะ ไก่กระดูกดำ เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนที่ประกอบด้วย คนจีนคณะชาติ ม้ง เย้า มูเซอ อีก้อ ไทลื้อ และคนพื้นเมืองมากกว่า 600 ครัวเรือนอย่างทั่วถึง และเมื่อมาที่นี่ต้องแวะชมทะเลหมอก บนดอยผาตั้ง ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร และเป็นจุดชมวิวไทย-ลาว และแหล่งชมดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ทิวลิป และลิลลี่ บนดอยผาหม่น

จากเมล็ดชาหน้าตาคล้ายเกาลัด ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อศึกษาหาวิธีนำมาปลูกในไทย จึงเกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน”

จ.เชียงราย เมื่อปี2554 เพื่อสานต่อพระราชดำริ ที่นี่จึงเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากเมล็ดชาและพืชน้ำมันอื่นๆที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติกว่า 150 ไร่ จุดเด่นของศูนย์ฯที่ไม่ควรพลาด คือร้านอาหาร “เมล็ดชา” กับอาหารเหนือสไตล์โมเดิร์น และใช้น้ำมันชามาเป็นวัตถุดิบหลัก มี 2 เมนูพระราชทานคือ โครเก็ตเบคอนแป้งขนมปังทอดไส้มันฝรั่งผสมหมูเบคอนบดและซุปมะเขือเทศ เปรี้ยวหวานกลมกล่อม และของหวานอย่างไอศกรีมอัญชันโยเกิร์ต ที่ทั้งอร่อยและสุขภาพดี

[caption id="attachment_107811" align="aligncenter" width="500"] ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา[/caption]

ในอดีตพื้นที่ของหมู่บ้านสะจุก-สะเกี้ยง จ.น่าน ประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรม และยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญ ดังนั้นเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำบริเวณยอดดอยขุนน่านให้มีความสมบูรณ์ดังเดิม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯทรงมีพระราชดำริให้สร้าง “โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านสะจุก-สะเกี้ยง” เพื่อให้ความรู้เรื่องการทำนาแบบขั้นบันได เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ การปลูกพืชเมืองหนาวและการทำปศุสัตว์ในครัวเรือน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

[caption id="attachment_107812" align="aligncenter" width="500"] การทำเกลือสินเธาว์บนภูเขา การทำเกลือสินเธาว์บนภูเขา[/caption]

อีกหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของจ.น่าน คือ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ จึงมีพระราชดำริ ให้ตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นเมือปี 2542 เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้การพัฒนาและถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่ราษฎร ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมประกอบอาชีพอย่างเหมาะสมกับศักยภาพ ที่นี่คุณจะพบกับการทำเกลือสินเธาว์บนภูเขาที่ไม่เหมือนที่ใด และพระตำหนักภูฟ้า ที่ประทับของสมเด็จพระเทพฯในโอกาสเสด็จมาทรงงานที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนานั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559