คต.งัดยุทธศาสตร์ใหม่ส่งเสริมศูนย์กระจายสินค้าดันยอดค้าชายแดน

20 ต.ค. 2559 | 06:38 น.
คต.เดินหน้าผลักดันการค้าชายแดน ผ่านยุทธศาสตร์ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า ทั้งในส่วนกลาง ตามแนวชายแดน และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยหวังขับเคลื่อนยอดค้าชายแดนปี 2559 ให้เติบโตตามเป้าหมายสวนทางกับสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน

นางดวงพร  รอดพยาธิ์  อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการผลักดันการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนให้เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงถึง 1.7 ล้านล้านบาทในปี 2559 และล่าสุด คต. ได้เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนไทยในการสร้างศูนย์กระจายสินค้าตามจุดต่างๆ โดยเริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์สนับสนุนภาคเอกชนไทยรายใหญ่สร้างตลาดกลางการค้าแถบปริมณฑลกรุงเทพฯ ไม่ไกลจากท่าอากาศยานดอนเมืองบนพื้นที่กว่า 150 ไร่ เพื่อต่อยอดธุรกิจ SMEs สู่ตลาดเป้าหมายในประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) เชื่อมโยงตลาดในอาเซียน (AEC) และขยายสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล โดยตลาดกลางนี้จะสามารถรองรับและอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่เป็น SMEs ได้ใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายและกระจายสินค้าไปสู่ตลาดทุกภูมิภาค โดยเน้นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เป็นอันดับแรก ซึ่งในเร็วๆนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับบริษัทผู้บริหารโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนสมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมจาก คต. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ Yen-D (Young Entrepreneur Network Development Program) ที่มีเครือข่ายธุรกิจกว่า 560 รายอยู่ในภูมิภาคนี้ ให้เข้าไปใช้บริการตลาดนี้ด้วยสิทธิพิเศษมากมาย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่ คต. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การเข้าไปส่งเสริมภาคเอกชนไทยจัดตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าตามแนวชายแดน เพื่อเป็นจุดรวบรวมสินค้าและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้มีช่องทางในการกระจายสินค้าเข้าไปจำหน่ายในประเทศ CLMV ผ่านชายแดนได้สะดวกและง่ายขึ้น โดยขณะนี้ คต. ได้สนับสนุนบริษัทไทยในการจัดตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งบริษัทฯ ดังกล่าวได้ทำการรวบรวมและคัดเลือกสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs ของไทยแล้วทำการส่งออกผ่านชายแดนเข้าไปจำหน่ายในตลาดเมียนมาได้หลากหลายสินค้า ซึ่งรูปแบบธุรกิจแบบนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ทำการค้าชายแดนได้เป็นอย่างดี

อีกยุทธศาสตร์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่องจากการที่ได้นำคณะผู้แทนการค้าภาคเอกชนไปขยายช่องทางการค้าที่เมืองตองยี สหภาพเมียนมา คือ การส่งเสริมภาคเอกชนไทยเข้าไปจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้ คต. ได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยไปร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า City Square ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าใหม่ แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองตองยี รัฐฉาน ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่จะถึงนี้ โดยจะจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าของ SMEs ไทย ซึ่งบริษัทฯ ได้รับจัดสรรพื้นที่ของห้างฯ ดังกล่าวทั้งชั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าของ SMEs ไทยในรัฐฉานแล้ว ศูนย์จำหน่ายสินค้าไทยนี้ยังจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าของ SMEs ไทยต่อไปยังเมืองต่างๆ ของประเทศเมียนมาได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้เข้าไปจัดมหกรรมการค้าชายแดน ณ เมืองตองยี รัฐฉาน เป็นครั้งแรกในช่วงวันที่ 26-30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นทำให้ผู้ประกอบการของไทยที่เข้าร่วมงานได้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของตลาด รวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายในการประกอบธุรกิจใหม่ๆ ในรัฐฉานได้ ในขณะเดียวกันทางด้านกัมพูชา ก็มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ชาวกัมพูชาที่เป็นสมาชิก YEN-D ของกรมฯ ก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยเช่นเดียวกันสำหรับเพื่อนสมาชิก YEN-D ไทย ณ กรุงพนมเปญ เพื่อขยายเครือข่ายสินค้าไทยให้กระจายไปทั่วกัมพูชา

กรมการค้าต่างประเทศจึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและสนใจที่จะประกอบธุรกิจในด้านการสร้างศูนย์กระจายสินค้าหรือการเพิ่มช่องทางการค้าการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงตามแนวทางยุทธศาสตร์การสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนดังกล่าว สามารถประสานความร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้

นอกจากยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าวแล้ว กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศยังคงเดินหน้าปลดล็อคปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดนอยู่อย่างต่อเนื่องโดยหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล่าสุดเพิ่งประชุมไปเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา จากการประชุมดังกล่าว ได้มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากภาคเอกชนขอให้รัฐบาลอนุญาตให้รถบรรทุกของประเทศเพื่อนบ้านสามารถวิ่งเข้ามาขนส่งสินค้าในประเทศไทยจนถึงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจด้านคลังสินค้า การขนส่งและโลจิสติกส์รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เกิดขึ้นได้ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการพัฒนาภูมิภาคภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งในประเด็นนี้กรมการค้าต่างประเทศจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดความเป็นไปได้ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าต่อไป

อนึ่ง มูลค่าการค้าชายแดนของไทย (ค้าชายแดน-ค้าผ่านแดน-ค้าเมืองหน้าด่าน) ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2559 อยู่ที่ 0.94 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 2.65 ซึ่งนับว่าเติบโตสวนทางกับสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน ส่วนมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2559 ทั้งปีคาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.5 ของเป้าหมายปี 2559 ที่ตั้งไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.9 จากปี 2558 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ