ซีพีเอฟจับมือกรมป่าไม้ อบก. และ BEDO อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำยั่งยืน

20 ต.ค. 2559 | 06:10 น.
ซีพีเอฟ ร่วมกับกรมป่าไม้  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ภายใต้ โครงการเขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตามยุทธ์ศาสตร์ “ดินน้ำป่าคงอยู่” ตั้งเป้าดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบประชารัฐ ในทุกกระบวนการ ทั้งร่วมคิด วางแผน ดำเนินการ และรับประโยชน์ จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือในโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ซึ่งป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นป่าไม้ถาวรของชาติ มีเนื้อที่ทั้งหมด 5,971 ไร่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำป่าสักตอนล่าง ในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่จากการขยายตัวของชุมชน ทำให้ป่าถูกบุกรุกไม้ขนาดใหญ่และมีค่าทางเศรษฐกิจถูกตัดไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีเพียงไม้พุ่ม และวัชพืชขึ้นปกคลุมยากแก่การฟื้นตัวตามธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องได้รับการจัดการฟื้นฟูและบำรุงรักษาให้ป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

“กรมป่าไม้เข้ามาดูแลในการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่อนุรักษ์ พร้อมให้ความรู้การคัดเลือกพันธุ์ไม้ การปลูก การดูแล บำรุงรักษา ติดตาม และประเมินผล โดยอาศัยหลักวิชาการป่าไม้ในการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพความเสื่อมโทรมของป่า เพื่อให้ป่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย การปลูกป่าแบบพิถีพิถัน การปลูกเสริมป่า การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ถือเป็นโครงการนำร่องในการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการในการฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ของกรมป่าไม้ต่อไป” นายประลอง กล่าวเสริม

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนสานต่อภารกิจความยั่งยืนของซีพีเอฟในเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม “ดิน น้ำ ป่าคงอยู่” ที่มีความมุ่งมั่นในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามแนวคิด “จาก  ภูผาสู่ป่าชายเลน ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ” ซีพีเอฟ จึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ดำเนินโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จำนวน 4,421 ไร่ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ระหว่างปี 2559 – 2564 นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัดของประเทศ ภายใต้โครงการซีพีเอฟ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ตลอดจนดำเนินงานเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและรอบสถานประกอบการทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

“ซีพีเอฟจะเข้ามาสนับสนุนด้านงบประมาณในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า ตลอดจนการติดตามและประเมินผล โดยทำหน้าที่ร่วมกับกรมป่าไม้อนุรักษ์และฟื้นฟู เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน ลงมือปฏิบัติตามแผนงานโดยชวนพนักงานและชาวชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม อาทิ เพาะกล้า ปลูก ปลูกซ่อม ดูแล และติดตามผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ขณะที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เป็นที่ปรึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ  ซึ่งจะส่งผลทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติม

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า ป่าไม้ถือเป็นแหล่งกักเก็บและดูดซับก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ป่าและดูแลรักษาป่าให้สมบูรณ์จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และกักเก็บไว้ในต้นไม้ในรูปของเนื้อไม้ โครงการฯ นี้ถือเป็นโครงการต้นแบบที่ดีของการสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน ซึ่งทาง อบก. เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการในการประเมินการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการปลูกป่าและดูแลผืนป่า อันนำไปสู่การช่วยลดอุณหภูมิของโลก หรือลดภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายศุภสิทธ์ จำปาวงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกิจกรรมอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO กล่าวว่า สำหรับโครงการฯ นี้ BEDO จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำหลักการการประเมินมูลค่าระบบนิเวศมาดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ทราบมูลค่าจากการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการสามารถติดตามและประเมินผลก่อนและหลังการดำเนินงานได้ เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศ คืนความสมบูรณ์ให้กับสภาพป่าไม้ ทั้งยังเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับป่าของประเทศได้อย่างยั่งยืน