โรงแรมไทยสร้างง่าย แต่ทำไม! ขอใบอนุญาตยาก

16 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
ข้อปัญหาระหว่าง " ตัน ภาสกรนที" กับทางจังหวัดเชียงใหม่ ถึงการเปิดให้บริการโรงแรมอีสติน ตัน โฮเทล เชียงใหม่" โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม โดยทางพ่อเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า เดิมอาคารของโรงแรมขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารชุดที่พักอาศัยหรือคอนโดมิเนียม แต่มีการนำอาคารมาเปิดเป็นโรงแรม ทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมให้ได้ และยังมีปัญหาเรื่องผังเมือง เนื่องจากบริเวณนี้ห้ามสร้างโรงแรมขนาดใหญ่

[caption id="attachment_105911" align="aligncenter" width="700"] โรงแรมที่มีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ โรงแรมที่มีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ[/caption]

ขณะที่เจ้าตัวแจงว่า ได้มีการยื่นขออนุญาตไปแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 โดยชี้แจงว่าเป็นปัญหารอยต่อระหว่างประกาศผังเมืองฉบับเก่าและฉบับใหม่ และอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม ไม่ได้มีเจตนาในการดำเนินการที่ขัดกับข้อกฎหมาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องเคลียร์และท้ายสุดต้องแก้ไขหากจะเปิดโรงแรมนี้ต่อไป

 แจงโรงแรมเถื่อนในไทย 1 หมื่นแห่ง

เคสนี้ถือว่าเป็นเพียง 1 ในโรงแรมร่วม 1 หมื่นแห่งในไทย ที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีอนุญาต เพราะปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีโรงแรมที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเพียง 10,382 ห้อง คิดเป็น 5.26 แสนห้องเท่านั้น (ตารางประกอบ) โดยแยกเป็นโรงแรมประเภท 1 ( มีบริการห้องพักอย่างเดียว) 6,619 ห้อง โรงแรมประเภท 2 (มีห้องพักและห้องอาหาร) 2,291 ห้อง โรงแรมประเภท 3 (มีห้องพัก ห้องอาหาร ห้องสัมมนา หรือสถานบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง) 1,124 ห้อง และโรงแรมประเภท4 (โรงแรมที่มีบริการครบทุกอย่าง) 348 ห้อง เท่านั้น แสดงให้เห็นว่านอกนั้นดำเนินธุรกิจอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และหลายแห่งนำเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ตึกแถว บ้านจัดสรร มาขายห้องพักแบบรายวันและให้บริการเป็นโรงแรม

ต่อเรื่องนี้นายบัณฑิต นริศรางกูร ผู้อำนวยการส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าเมื่อปี2554 มีผู้ประกอบการมายื่นเรื่องขอดำเนินธุรกิจโรงแรมค้างไว้ 3,710 แห่ง แต่ติดล็อกในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะลักษณะประเภทอาคารที่ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรงแรม พ.ศ.2547 มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้สูงมาก โดยอิงกับโรงแรมระดับ 5 ดาว ทำให้โรงแรมขนาดเล็กจะไม่สามารถขออนุญาตได้ และในปี2559 คาดว่ามีโรงแรมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโรงแรมเพิ่มเป็นจำนวนกว่า 1 หมื่นแห่ง ซึ่งก็มีทั้งโรงแรมที่ตั้งใจจะกระทำผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันมีอีกเป็นจำนวนมากที่อยากทำให้ถูกแต่เข้าระบบไม่ได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาที่โรงแรมไม่สามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2547 ได้ ซึ่งถือว่าผิดเพราะกฎหมายให้ผิด ไม่ได้เจตนากระทำผิด

 แจง 3 ปัญหาขอใบอนุญาตไม่ง่าย

จุดหลักที่โรงแรมไม่สามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจได้ มาจาก 3 เรื่อง คือ 1.กฎหมายว่าด้วยผังเมือง ที่ได้กำหนดเขตพื้นที่โซนสี สำหรับการประกอบกิจการในพื้นที่ และในบางพื้นที่ได้มีการกำหนดห้ามก่อสร้างอาคารโรงแรม 2.กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารได้กำหนดให้โรงแรมบางประเภท(ขนาดใหญ่)ต้องมีที่จอดรถ และ3.กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ได้กำหนดให้อาคารโรงแรมเป็นอาคารควบคุมและต้องได้รับอนุญาตใช้อาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน

โดยปัญหาเหล่านี้ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็รับทราบปัญหานี้ดี โดยเฉพาะการกำหนดลักษณะอาคารโรงแรม ซึ่งมีสเปกสูงมาก เพราะตีโจทย์โดยอิงรูปแบบโรงแรมขนาดใหญ่ในอดีต ทำให้หลายโรงแรมไม่สามารถเข้าระบบได้ ประกอบกับการเติบโตของการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น หากเข้มงวดในการจับกุมโรงแรมผิดกฎหมายจริงๆ ก็คงไม่เหลือที่พักในการรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้ที่ผ่านมาคนทำโรงแรมผิดกฎหมายจึงมีมากกว่าคนที่ทำถูกกฎหมายเสียอีก

แต่วันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เมื่อรัฐบาลเอง ก็อยากได้ภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบกับที่ผ่านมา ดูเหมือนหน่วยงานรัฐจะเริ่มจูนกับสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)ได้ ถึง ความพยายามในการปลดล็อกในหลายปัญหา เพื่อดึงโรงแรมเถื่อนให้สามารถเข้าสู่ระบบได้

 ปลดล็อกเปิดทางทำธุรกิจถูกก.ม.

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)ช่วง5-6 ปีที่ผ่านมา ทางทีเอชเอ ได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลดล็อกใน 3 เรื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจโรงแรม สามารถขอใบอนุญาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา มีการแก้ไขเรื่องของผังเมือง ที่เปิดให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถเปิดให้บริการได้ในทุกผังสีที่เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนปัญหาเรื่องที่จอดรถ ก็ผลักดันให้โรงแรมประเภท 1 และ2 ไม่ต้องมีที่จอดรถ และล่าสุดคือปลดล็อกเรื่องรูปแบบอาคาร จนเกิดกฎกระทรวง เรื่องกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่นำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป สามารถปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประกอบกิจการโรงแรมได้อย่างถูกต้องกฎหมาย

โดยการออกกฎกระทรวงดังกล่าว จะทำให้โรงแรมประเภท1 และ 2 มีเวลา 5 ปีที่จะดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งอิงจากรูปแบบอาคารของถนนข้าวสารและอัมพวา มากำหนดสเปกของอาคาร ให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถปรับปรุงเพื่อยื่นทำโรงแรมอย่างถูกต้องได้ อาทิ การกำหนดให้มีที่ว่างของอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 การบันไดหนีไฟ เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้หารือกับกรมโยธา ก็เชื่อว่าปัจจุบันมีโรงแรมผิดกฎหมายและเป็นโรงแรมขนาดเล็กเกินกว่า 1 แสนห้อง ดังนั้นหากนำโรงแรมเหล่านี้เข้าระบบได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ลงได้ 50% หรือจะมีโรงแรมที่เข้าสู่ระบบเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นห้อง หรือทำให้โรงแรมกว่า 5,000แห่งที่ไม่ถูกต้องเข้าระบบได้

อย่างไรก็ตามการปลดล็อกดังกล่าวก็จะให้โอกาสเฉพาะโรงแรมประเภทที่ 1 และ 2 เท่านั้น โดยผู้ประกอบการต้องนำใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร (อ.6) มาเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อประกอบการธุรกิจโรงแรม(อ.5) ส่วนโรงแรมประเภทที่ 3 และ 4 ที่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ รวมถึงโรงแรมอีสติน ตัน โฮเทล เชียงใหม่ เอง ก็ยังคงต้องดำเนินการ ตามพ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 อยู่ เนื่องจากกฎกระทรวงฯไม่ได้ปลดล็อกในเรื่องนี้ให้

ดังนั้นต่อไปคนจะทำโรงแรมนับจาก 5 ปีนี้ไป ในทุกประเภทของโรงแรม ก็ต้องสร้างมาเพื่อทำโรงแรม ให้ถูกต้องตามพ.ร.บ.โรงแรม การดัดแปลงอาคาร เพื่อทำโรงแรม ก็จะไม่มีสิทธิได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมแน่นอน
ส่วนบทลงโทษตามพ.ร.บ.โรงแรมพ.ศ.2547 มาตรา 59 กำหนดบทลงโทษสำหรับโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องไว้ว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็เหมือนเสือกระดาษ เพราะที่ผ่านมาทีเอชเอ มีการแจ้งเรื่องให้จับกุมโรงแรมเถื่อนไปร่วม 30-40 แห่ง ก็มีโรงแรมถูกปรับ 3,000 บาท 5,000 บาท สูงสุดปรับ 1หมื่นบาท มี 2 รายจำคุก 3 เดือนรอลงอาญา 2 ปี แต่ไม่มีโรงแรมสักแห่งที่ถูกจับแล้วจะหยุดดำเนินกิจการ

ดังนั้นในขณะนี้ทีเอชเอ จึงมองไปถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการใช้พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร มาตรา 44 มาใช้ประกอบกัน เพราะจะมีบทลงโทษที่แรงกว่า ที่ต่อไปหากโรงแรมใด ไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะมาเปิดลอยหน้าลอยตาเหมือนเดิมไม่ได้แล้วนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559