สะพานข้ามแม่นํ้าโขง แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) เชื่อมเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

12 ต.ค. 2559 | 05:00 น.
ปัจจุบันกรมทางหลวง(ทล.) อยู่ระหว่างเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียดเพื่อยกระดับการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่นำโขง(Greater Mekong Subregion : GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Straategy : ACMECS) ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)-สหภาพเมียนมา-ไทย-เวียดนาม

[caption id="attachment_105074" align="aligncenter" width="700"] โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน)[/caption]

นับเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลุ่มอนุภาคตอนบน และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ขนส่งระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ฝั่งประเทศไทย ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 จะมุ่งไปทางทิศตะวันตก ก่อนที่จะเลี้ยวขวามุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง แนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม และตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 ก่อนจะเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งประเทศไทย และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ซึ่งห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 200 เมตร แนวเส้นทางจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทางจราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว ทางฝั่งตะวันตกของหนองง้า ไปสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 ระยะทางรวมตลอดโครงการยาว 16.03 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 3,640 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งออกแบบรายละเอียดเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป

โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเส้นทางสายนี้แนวเส้นทางจึงประกอบไปด้วยโครงข่ายในฝั่งประเทศไทย และสปป.ลาว ผ่านสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 นี้พื้นที่ครอบคลุมเขตการปกครองของตำบลไคสี ตำบลวิศิษฐ์ และตำบลบึงกาฬ เขตอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ในฝั่งประเทศไทย และครอบคลุมพื้นที่บริเวณเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซในฝั่ง สปป.ลาว เชื่อมโยงกับทางหลวงหมายเลข 212 ไปยังจังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม และทางหลวงหมายเลข 222 ไปยังจังหวัดสกลนคร โดยจุดสิ้นสุดในฝั่งสปป.ลาวนั้นยังจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาทางหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งมีแผนที่จะทำการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองปากซัน ด้านตะวันออกบนทางหลวงหมายเลข 13 และยังสอดคล้องกับโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศเวียดนามได้อีกด้วย

กล่าวได้ว่าเมื่อเปิดให้บริการจะสามารถท่องเที่ยวตามเส้นทางนี้เชื่อมติดต่อกัน 1 วันเที่ยวได้ 3 ประเทศ นอกเหนือจากเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสินค้าจากประเทศไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้ หรือสินค้าจากโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยออกสู่ทะเลที่เวียดนามไปยังประเทศอื่นๆ ท้ายที่สุดยังมีลุ้นอีกว่ารัฐบาลไทยและสปป.ลาวจะอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2561 นี้หรือไม่ ! เพื่อเปิดประตูการค้าชายแดนสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559