ส่งออกไปอียู-ผู้ดีส่อกู่ไม่กลับ เบร็กซิท-ค่าเงินอ่อนฉุด/เสื้อแบรนด์ดัง 3 ตัวไม่ถึงพัน

08 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
เบร็กซิท-เศรษฐกิจยุโรป ฉุดส่งออกไทยไปตลาดอังกฤษ และอียูในภาพรวมยังอยู่ในแดนลบ และส่อลากยาว จับตาปัญหาดอยช์แบงก์กระหน่ำซ้ำ ไก่บ่นอุบถูกต่อราคาแหลก ปรับกลยุทธ์หากขาดทุนไม่ส่งมอบ การ์เมนต์ชี้เศรษฐกิจยุโรปซึมลึก เสื้อผ้าแบรนด์ดังขายราคาหนีตายไม่ถึง 500 รถยนต์ชี้ผลพวงอียูลดนำเข้ารถอีโคคาร์ฉุดตัวเลข หวังปีหน้าโงหัว
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ถึงการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกโดยรวมคืออังกฤษ ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 ขยายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.5% (ดูตารางประกอบ) ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ในช่วงเดียวกันของปีนี้ ขยายตัวลดลง 0.90%

[caption id="attachment_103818" align="aligncenter" width="700"] สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปสหราชอาณาจักรช่วง 8 เดือนแรก สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปสหราชอาณาจักรช่วง 8 เดือนแรก[/caption]

นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ หนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าไก่แปรรูปรายใหญ่ไปตลาดสหภาพยุโรป(อียู) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การส่งออกสินค้าไก่แปรรูปของไทยไปตลาดอียูและอังกฤษที่ลดลงช่วง 8 เดือนแรก (-6.1 และ -7.0% ตามลำดับ) มีปัจจัยสำคัญจากกรณีที่อังกฤษได้ทำประชามติออกจากอียู หรือเบร็กซิท (เมื่อ 23 มิ.ย.59) ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ค้าขายกันมีความผันผวน และอ่อนค่าลงถึง ณ ปัจจุบันลดลงประมาณ 10% (จาก 52-54 บาทต่อปอนด์ เหลือ 45-46 บาทต่อปอนด์) ส่งผลให้ราคาสินค้าไก่ของไทยสูงขึ้น ลูกค้าต่อรองมากขึ้น

“ค่าเงินปอนด์ และค่ายูโรอ่อน ทำให้เราขาดทุนในการขายสินค้า จะขอขึ้นราคาลูกค้าบอกเขาก็เดือดร้อน เพราะผู้บริโภคก็ลดการจับจ่าย ดังนั้นวิธีการเพื่อลดการขาดทุน และรักษาฐานลูกค้าในยุโรป และอังกฤษที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าไก่รายใหญ่สุดจากไทยในอียูคือทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน และเจรจาต่อรองขอราคาเพิ่มในระดับที่หากไม่มีกำไรก็ไม่ขาดทุน ส่วนผู้ส่งออกไก่ของไทยบางรายใช้วิธีชะลอส่งมอบ เช่นต้องส่งมอบใน 3 เดือนสุดท้าย 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ก็จะส่งแค่ 60-70 ตู้ ที่เหลืออีก 30 ตู้ และอาจประวิงเวลาในการส่งมอบเพื่อเจรจาต่อรอง โดยอ้างระดับราคานี้ขาดทุนส่งไม่ได้ เป็นต้น”

อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าไก่แปรรูปของไทยไปตลาดอียู ในปีนี้น่าจะติดลบ เพราะนอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีสินค้าไก่จากยุโรปตะวันออกเข้าไปไปขายแข่งโดยราคาถูกกว่าตันละ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังเป็นผลจากสื่อของอังกฤษออกข่าวโจมตีฟาร์มเลี้ยงไก่ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าไก่รายใหญ่ของไทยบางรายกดขี่แรงงาน ทำให้ผู้นำเข้าระมัดระวังในการสั่งสินค้า และอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตามองคือกรณีปัญหาดอยช์แบงก์ของเยอรมนี อาจกระทบเศรษฐกิจของยุโรป

นายชวลิต นิ่มละออ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทโอเรียนตอลการ์เมนท์ กล่าวว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม หรือการ์เมนต์ของไทยไปอียู และอังกฤษช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ที่ติดลบ (-8.1 และ -12.9% ตามลำดับ)เป็นผลจากเศรษฐกิจในอียูและอังกฤษที่ตกต่ำมาก ค่าเงินยูโร และค่าเงินปอนด์ก็อ่อนลง คนตกงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเสื้อผ้าที่ขายตามห้างในยุโรปลดลงมาก ที่ได้ไปประสบกับตัวเอง เวลานี้เสื้อผ้าแบรนด์เนมดังบางยี่ห้อ ทั้งเสื้อโปโล เสื้อแขนสั้น-แขนยาว กางเกงยีนส์ ที่ขายตามห้างเพียงตัวละ 9.99 ยูโร หรือไม่ถึง 500 บาท (ราว 390 บาท คำนวณที่ 39 บาท/ยูโร) และหากซื้อ 2 ตัว มีสิทธิ์ซื้อตัวที่ 3 เพียง 1 ยูโร รวม 3 ตัวเพียง 21 ยูโร(ราว 819 บาท)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่าการส่งออกรรถยนต์ของไทยไปอังกฤษที่ลดลง เป็นผลจากการส่งออกรถอีโคคาร์ของไทยที่เริ่มส่งออกไปตั้งแต่ปี 2556 ถึงณ ปัจจุบันเริ่มอิ่มตัว แต่เริ่มขยายตัวกลุ่มรถเอ็มพีวีและรถปิกอัพ หวังในปีหน้ายอดส่งออกรถยนต์ของไทยไปอังกฤษจะเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559