ประเมินผลกระทบทัวร์ศูนย์เหรียญ 'ยอมเจ็บ...เพื่อจะจบ'

09 ต.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ทัวร์ศูนย์เหรียญก่อกำเนิดขึ้นมานับตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศ และอนุญาตให้คนจีนเดินทางออกไปยังต่างประเทศในปี 2536 ในปีนั้น มีคนจีนออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงน้อยนิดแค่ 6 ล้านคน แต่เวลาผ่านไป 22 ปี จำนวนคนจีนที่ออกไปเที่ยวยังต่างประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 127 ล้านคนในปี 2558 การที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชากรจีนมีมากกว่า 1,350 ล้านคน เมื่อมีการเปิดประเทศจึงมีความต้องการออกไปเที่ยวมาก ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการดำเนินธุรกิจทัวร์ในลักษณะที่ขายแพ็กเกจราคาทัวร์ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง จากนั้นไปเอาทุนคืนและทำกำไรด้วยการบีบบังคับให้ลูกทัวร์ซื้อสินค้าในร้านค้าที่เป็นเครือข่ายของตนเองในราคาที่สูงเกินจริง รวมถึงการขายแพ็กเกจเสริมอื่นๆ ที่อยู่นอกโปรแกรมทัวร์ หรือที่เรียกกันว่า "ทัวร์ศูนย์เหรียญ"

[caption id="attachment_104011" align="aligncenter" width="700"] ประเมินผลกระทบทัวร์ศูนย์เหรียญต่อการท่องเที่ยวไทย ประเมินผลกระทบทัวร์ศูนย์เหรียญต่อการท่องเที่ยวไทย[/caption]

การดำเนินธุรกิจแบบ "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" หากมองเผินๆ อาจเห็นว่าไม่เห็นเป็นอะไร ดีซะอีกจะได้มีคนจีนเข้ามาใช้จ่ายในประเทศมากๆ แต่หากมองให้ลึกลงไป การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนกลับไม่ได้เข้าสู่ประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญนี้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจีนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของการช็อปปิ้งและการขายแพ็กเกจทัวร์เสริมอื่นๆ จากนั้นก็หอบเงินกลับประเทศทั้งหมด เรียกได้ว่า "คนไทยได้น้อย แต่กลับสูญเสียทรัพยากรการท่องเที่ยวของประเทศจากการที่คนจีนเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก และทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยลดลง"

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงจัดการปัญหาไม่ให้โครงสร้างการทำธุรกิจทัวร์ในประเทศบิดเบี้ยวบานปลายไปจนแก้ไขได้ยาก ด้วยการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญในประเทศอย่างจริงจัง อันที่จริงย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม 2556 ทางการจีนได้เล็งเห็นถึงปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญที่ทำให้ภาพลักษณ์คนจีนในสายตาชาวโลกดูไม่ดี และในขณะเดียวกันคนจีนที่ออกไปเที่ยวต่างประเทศก็ถูกเอารัดเอาเปรียบบังคับซื้อสินค้าที่สูงกว่าต้นทุนที่แท้จริงมาก จนต้องออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมทัวร์ศูนย์เหรียญ ถือเป็นการจัดการบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญที่ต้นทางไปแล้ว แต่บริษัททัวร์ปลายทางในเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญก็ยังมีการลักลอบกันทำอยู่ ประเทศไทยถือเป็นผู้กล้า "รายแรกๆ ที่ปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญที่ปลายทาง" ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงที่ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนจะลดลงอย่างมาก โดยรัฐคาดหวังว่าการปราบปรามครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการแข่งขันธุรกิจทัวร์ในประเทศอย่างเป็นธรรมได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ทั่วถึงอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงคนจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยเกิดความประทับใจเมื่อมาเที่ยวไทย เพราะไม่ถูกการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้มาเที่ยวซ้ำ และชวนเพื่อนฝูง ญาติ พี่น้อง เข้ามาเที่ยวไทยอีกในอนาคต

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี คาดว่า ผลของการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจะกระทบเศรษฐกิจเพียงในระยะสั้น โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวจีนจะหายไปในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2559 ประมาณ 4.75 แสนคน หรือคิดเป็นประมาณ 5%ของนักท่องเที่ยวจีนรวม ทำให้ทั้งปี 2559 นักท่องเที่ยวจีนจะอยู่ที่ 9 ล้านคน และเมื่อพิจารณารายได้ที่สูญเสียไปจะอยู่ที่ 7,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 2% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนรวม ซึ่งจะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนทั้งปีจะอยู่ในระดับ 4 แสนล้านบาท โดยรายได้ที่หายไปคำนวณจากเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ได้แก่ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าไกด์ ไม่รวมค่าซื้อสินค้าและการจัดแพ็กเกจทัวร์เสริมที่เครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นผู้ได้รับไปเต็มๆ

ส่วนในปี 2560 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าผลของการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20%ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดลดลงไป แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เหลืออีกประมาณ 80% ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเอง 60% กับกลุ่มที่มากับบริษัททัวร์แต่ไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญอีก 20% ยังคงชื่นชอบสถานที่ท่องเที่ยวไทย โดยนักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีศักยภาพ จึงคาดว่าการเติบโตนี้จะสามารถเข้ามาชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวทัวร์ศูนย์เหรียญที่หายไปได้บ้าง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญบางส่วนที่เน้นทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนอาจจะยังปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากไม่กล้าทำทัวร์จีนต่อเพราะยังสับสนว่าการดำเนินธุรกิจของตนเข้าข่ายการดำเนินธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐได้ให้ความเชื่อมั่นว่า หากการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเป็นไปโดยสุจริต ไม่ทำผิดกฎหมาย มีการยื่นเสียภาษีเป็นประจำทุกปี ก็ไม่ต้องกังวล รอเพียงความชัดเจนของภาครัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์ราคาแพ็กเกจทัวร์ในประเทศขั้นต่ำ จากนี้ผู้ประกอบการก็สามารถนำราคาดังกล่าวไปกำหนดราคาแพ็กเกจทัวร์และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จะเห็นว่าการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญของภาครัฐให้อยู่ในกฎระเบียบและสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน อาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปในระยะสั้น แต่หากมองในระยะปานกลางถึงยาว ความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในไทยยังมีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของคนจีนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการมีแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาหารถูกปาก ค่าครองชีพไม่สูงนัก รวมทั้งการเดินทางมาไทยก็สะดวก ทำให้โอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะทำเงินจากนักท่องเที่ยวจีนยังมีอีกมาก

ดังนั้น ในระยะต่อไป เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐที่ต้องการยกระดับการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ ด้วยการจัดแพ็กเกจทัวร์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายภายใต้ระดับราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเข้ามาในไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็ควรมองหาตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง หากการปราบปรามของภาครัฐในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของธุรกิจท่องเที่ยวไทยในระยะยาว การดำเนินการทุกสิ่งอย่าง ย่อมมีต้นทุนเสมอ ดังนั้น "การยอมเจ็บ เพื่อจะจบ" อาจเป็นสิ่งที่ควรทำ...

- ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559