เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (2)

28 เม.ย. 2567 | 02:30 น.

เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3987

ตอนก่อน ผมชวนคุยเกี่ยวกับพัฒนาการของอุตสาหกรรมเรือสำราญของจีน และ การเติบใหญ่ของบริการเรือสำราญของจีน วันนี้ ผมจะพาไปส่องผลกระทบเชิงธุรกิจ และการเข้ามาของบริการเรือสำราญของต่างชาติในจีนกันครับ ... 

ภายหลังความสำเร็จในการเปิดให้บริการของเรือ Adora Magic City บริษัทยังวางแผนให้กองเรือ Adora ทั้งหมดขยายบริการในเส้นทางระยะกลางและระยะยาว ตามเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 โดยให้บริการจากท่าเทียบเรือหลายแห่งตลอดแนวชายฝั่งด้านซีกตะวันออกของจีน ไปยังท่าเทียบเรือใน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเชิงธุรกิจ แม้ว่าบริษัท Adora Cruises ของจีน จะเป็นผู้ประกอบการ “หน้าใหม่” ในวงการ แต่การดำเนินธุรกิจก็เป็นไปอย่างราบรื่น บริการมีกระแสตอบรับเป็นบวกอย่างมากในวงกว้าง โดยได้รับการติดต่อสอบถาม และการจองที่นั่งเต็มไปแล้วสําหรับบริการในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้ 

ขณะเดียวกัน เรือ Adora Magic City ยังเดินหน้าปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ และเติมเต็มประสบการณ์ที่แปลกใหม่แก่ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง

เหล่านี้ยังบ่งชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน และการบริการที่ดีขึ้นของสายการเดินเรือของจีน ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้สาธารณชนแสดงความสนใจในการท่องเที่ยวทางทะเล ยิ่งผสมโรงกับการพัฒนาของเศรษฐกิจจีนที่ดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ ก็เพิ่มศักยภาพและความต้องการทางการตลาดในเชิงคุณภาพ 

และนี่ไม่ใช่รายแรกและจะไม่ใช่รายสุดท้าย เพราะกระแสข่าวล่าสุดพบว่า สายการเดินเรือของจีนเตรียมจัดตั้งบริษัทเรือสําราญรายใหม่ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2023 บริษัทเรือสําราญของจีน 6 ราย ได้ลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งในชื่อ “Huaxia International Cruises”

บริษัทโฮลดิ้งแห่งนี้มาฟอร์มใหญ่ ด้วยทุนจดทะเบียน 8,500 ล้านหยวน และตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นําในการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญของจีน ด้วยการดําเนินงาน “อย่างมืออาชีพ มุ่งเน้นตลาด และระหว่างประเทศ”

แน่นอนว่า การเข้ามาของผู้ประกอบการจีนเหล่านี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมเรือสำราญของจีนเติบใหญ่มากขึ้น สนับสนุนการรุกตลาด และส่งเสริมการพัฒนาตลาดท้องถิ่นได้อย่างมีชีวิตชีวาไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกัน บริการของสายการเดินเรือต่างชาติที่มีกลิ่นอายความเป็นยุโรปซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยู่เดิม ก็จะเป็น “ทางเลือก” ของผู้บริโภคจีน ทำให้บริษัทเรือสำราญของจีน ได้มีโอกาสในการเรียนรู้จากของต่างชาติไปพร้อมกัน

โดยเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2024 เอ็มเอสซีครูซ (MSC  Cruises) กิจการเรือสำราญรายใหญ่แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ก็นำเอาเรือ “เอ็มเอสซี เบลลิซิมา” (MSC Bellissima) กลับมาเปิดให้บริการในเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรือสําราญระหว่างประเทศของต่างชาติลําแรก ที่เปิดให้บริการจากจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคหลังโควิด

เรือธงลำนี้มีขนาดใหญ่ถึง 172,000 ตันกรอส มีห้องโดยสารราว 2,220 ห้อง ซึ่งถือเป็นเรือสําราญที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่ให้บริการในทวีปเอเชีย สามารถรองรับผู้โดยสารได้พร้อมกันมากถึง 5,686 คน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกจำแนกตามความจุผู้โดยสาร

ท่านผู้อ่านที่เดินทางโดยเครื่องบินบ่อยๆ อาจพอจินตนาการได้ถึงความมหึมาของเรือธงลำนี้ได้ เพราะเทียบเท่ากับการนำเอาผู้โดยสารของเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 กว่า 15 ลำ มาขึ้นเรือในคราวเดียวกัน

ปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงนับเป็นก้าวย่างสําคัญ ที่สร้างความมั่นใจให้กับบริษัทเรือสำราญรายใหญ่ในตลาดจีน การฟื้นตัวของตลาดเรือสำราญของจีน มีบทบาทเชิงกลยุทธ์ต่อธุรกิจเรือสำราญข้ามชาติ และตอกย้ำถึงฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเรือสําราญทั่วโลกไปพร้อมกัน

บริษัท MSC Cruises มองว่า นี่เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมสําหรับการเติบโตสําหรับตลาดจีน โดยในปีแรกของการกลับมา บริษัทได้ประกาศตารางบริการช่วงฤดูหนาวปี 2024-25 โดยมีเรือสำราญ 2 ลําให้บริการในท่าเทียบเรือ 4 แห่งของจีน

หวง รุ่ยหลิง (Huang Ruiling) ประธานกรรมการของ MSC Cruises China เปิดเผยเคล็ดลับของความสำเร็จที่ผ่านมาว่าอยู่บนหลักการของ “ท้องถิ่นนิยม” (Localization) ที่ต้องการให้บริการของบริษัทได้รับการยกระดับเป็นพิเศษสําหรับตลาดจีน และสอดคล้องกับความชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น

“เราได้อัปเกรดตัวเลือกด้านอาหารและเครื่องดื่มมากมาย และเพิ่มองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจีนบางอย่างเพื่อให้เหมาะกับรสนิยมของชาวจีน”

และเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารชาวจีนได้ดียิ่งขึ้น บริษัทถึงขนาดรับพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาจีน และจัดโปรแกรมสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนแก่พนักงาน โดย 25% ของลูกเรือประจำ MSC Bellissima หรือราว 400 คน ก็มีความรู้ด้านวัฒนธรรมและสามารถสื่อสารภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว

นอกจากนี้ เรือ MSC Bellissima ยังเป็นเรือที่มีตราประทับและกลิ่นอายความเป็นจีน ตั้งแต่การซ่อมแซมและบำรุงรักษาเรือ การจัดหาวัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลือง ไปจนถึงการพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายการขายในท้องถิ่น

ต่อมา เมื่อปลายเดือนเมษายน 2024 บริษัท “รอยัลแคริบเบียน อินเตอร์เนชันแนล” (Royal Caribbean International) ผู้ให้บริการเรือสําราญระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ไม่อาจเสี่ยง “ฝากปลาทูไว้กับแมว” ได้อีกต่อไป 

                         เมื่ออุตสาหกรรมเรือสําราญก้าวสู่“ยุคทอง”ครั้งใหม่ (2)

อันที่จริง รอยัลแคริบเบียนเคยเข้าไปให้ประกอบธุรกิจในตลาดจีนมาเป็นเวลากว่า 15 ปี และได้สร้างชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการส่งเสริม “ทศวรรษทอง” ของตลาดเรือสําราญของจีนในระลอกแรก แต่บริการหยุดชะงักลงในช่วงวิกฤติโควิด

ในการกลับมาสู่ตลาดจีนของรอยัลแคริบเบียนในครั้งนี้ บริษัทตัดสินใจนำเรือ “สเป็คตรัมออฟเดอะซีส์” (Spectrum of the Seas) มาให้บริการอีกครั้ง โดยเลือกเอาเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีความเพียบพร้อมด้านการเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็น “หมุดหมาย” ส่งผลให้บริษัทกลับสู่ตลาดเรือสำราญของจีนอย่างยิ่งใหญ่

เพราะปรากฏว่า ธุรกิจได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากอย่างไม่คาดคิด การสำรองการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางเป็นครอบครัว ส่งผลให้ห้องชุดสําหรับครอบครัวถูกจองล่วงหน้าจนเต็มหมดก่อนห้องประเภทอื่น

โดยปริมาณการจองตั๋วในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งมีช่วงหยุดยาววันแรงงานเพิ่มขึ้นราว 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งมีช่วงปิดเทอมของเด็กนักเรียน และเกิดเป็นกระแสยาวต่อไปถึงไตรมาสที่ 4 

ด้วยกระแสความนิยมดังกล่าว รอยัลแคริบเบียนถึงขนาดประกาศปรับแผนโดยเพิ่มเรือเป็น 2 ลํา ประจําการในท่าเรือเซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และ ฮ่องกง พร้อมแผนการเดินทางที่หลากหลายตั้งแต่ 4-7 คืน โดยมีจุดหมายปลายทางในหลายหัวเมืองของญี่ปุ่น อาทิ โตเกียว โอซาก้า โกเบ ฟุกุโอกะ และ โอกินาวา

มีผู้เล่นต่างชาติรายไหนอีกบ้างที่เข้าไปขอแบ่ง “เค้กก้อนใหญ่” จากตลาดเรือสำราญของจีน ติดตามต่อตอนหน้าครับ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน