กระทรวงคมนาคม ลงทุน 470 ล้าน พลิกโฉมศูนย์ฝึกบิน สถาบันการบินพลเรือน

04 พ.ค. 2567 | 07:05 น.

กระทรวงคมนาคม สนับสนุนเงินลงทุน 470 ล้านบาท พลิกโฉมศูนย์ฝึกการบิน ก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกการบินหัวหิน จัดหาเฮลิคอปเตอร์สนับสนุนสถาบันการบินพลเรือน พร้อมเปิดตลาดนักบินขานรับนโยบายรัฐบาล ดันไทย Aviation Hub

นาง มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เห็นความสำคัญของสถาบันการบินพลเรือน  ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการบินของประเทศไทยมายาวนานกว่า 62 ปี  และยังคงรักษามาตรฐานและคุณภาพในการผลิตบุคลากรการบิน 

มนพร เจริญศรี

ล่าสุดยกระดับสถาบันการบินพลเรือนเข้าสู่เวทีโลกได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ในฐานะสมาชิกระดับ Platinum เป็น 1 ใน 9 แห่งจากจำนวน 128 สถาบันใน 77 ประเทศทั่วโลก และเป็น 1 ใน 4 แห่ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS   ถือเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินแบบครบวงจรทั้งหลักสูตรภาคพื้นและภาคอากาศ   

นางมนพร กล่าวว่า  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบาย Aviation Hub  เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค  การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น สิ่งที่ต้องเตรียมการเป็นลำดับแรกคือ บุคลากรการบินต้องมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานสากล         

สถาบันการบินพลเรือน

นอกจากสำนักงานใหญ่ของ สบพ.ที่กรุงเทพ  ซึ่งมีอาคารสถานที่ที่มีความพร้อมในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินในหลักสูตรภาคพื้นให้พร้อมรับการกลับมาของอุตสาหกรรมการบินแล้ว  สบพ.ยังมีศูนย์ฝึกการบิน  ตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานหัวหิน
จ.ประจวบคีรีขันธ์    เป็นแหล่งผลิตนักบินพาณิชย์ รวมถึงบุคลากรด้านการบินหลักของประเทศและภูมิภาคมายาวนาน  

อีกทั้งเมื่อมีโอกาสไปตรวจเยี่ยมอย่างไม่เป็นทางการได้รับรายงานว่าศูนย์ฝึกการบินได้ผลิตและพัฒนานักบินที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลได้อย่างพอเพียงต่อความต้องการภายในประเทศและสอดคล้องกับความต้องการของภูมิภาค  มีขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนานักบินตามมาตรฐานสากลกำหนดได้มากกว่าปีละ 100 คน 

โดยให้บริการในหลักสูตรภาคอากาศครอบคลุมทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์และได้รับการรับรองเป็นสถานฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization: ATO) จากสำนักงานการบิน
พลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อาทิหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีเครื่องบิน (Commercial pilot – Airplane Course: CPL) หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีเฮลิคอปเตอร์ (Commercial pilot – Helicopter Course: CPH) 

กระทรวงคมนาคม ลงทุน 470 ล้าน พลิกโฉมศูนย์ฝึกบิน สถาบันการบินพลเรือน

รวมถึงหลักสูตรนักบินส่วนบุคคล หลักสูตรครูการบิน ทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น และถือเป็นแหล่งรายได้หลักของ สบพ.     แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด – 19 ส่งผลให้เกิดสถานการณ์นักบินตกงาน   สบพ.ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่มีศิษย์การบินทั้งทุนจากสายการบินและทุนส่วนตั ด้วยขาดความเชื่อมั่นถึงโอกาสในการมีงานทำ 

กระทรวงคมนาคม ลงทุน 470 ล้าน พลิกโฉมศูนย์ฝึกบิน สถาบันการบินพลเรือน

ทั้งพบว่าอาคารสถานที่มีสภาพเก่าและทรุดโทรม  ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสถาบันฝึกอบรมที่ได้มาตรฐานสากล  วันนี้สถานการณ์ด้านการบินได้คลี่คลายลงแล้ว  สายการบินมีแผนการสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี  จึงมีความต้องการนักบินเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ล่าสุดบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) ได้ประการรับสมัคร Student Pilot โดยบริษัทเป็นผู้ออกทุนในการฝึกอบรมทั้งหมด และเปิดรับนักบินหญิงเป็นปีแรกถือเป็นโอกาสที่ดีของ สบพ.  และเป็นโอกาสดีของน้องๆที่สนใจอาชีพนักบิน  จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ สบพ.ต้องปรับปรุงอาคารศูนย์ฝึกการบินให้มีความพร้อมรองรับการผลิตและพัฒนานักบินที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล  และผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของสายการบิน   

ศูนย์ฝึกการบินหัวหิน

นางมนพร ฯจึงได้ผลักดันโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกการบินหัวหินและสิ่งก่อสร้างประกอบพร้อมครุภัณฑ์ ของ สบพ. โดยจัดสรรงบประมาณในเฟสแรกที่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2568  ในวงเงินประมาณ 398.5 ล้านบาท  เป็นอาคารเรียนและฝึกอบรมที่มีความทันสมัย

พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ซึ่งจะสอดคล้องกับผลการตรวจประเมินของ ICAO ในครั้งที่ผ่านมา ได้ตั้งข้อสังเกตให้ สบพ.พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ต้องได้รับการตรวจสอบและผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐาน ICAO 

การก่อสร้างในเฟสแรกจึงเป็นงานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกการบิน และอาคารอำนวยการ 2 หลังและสิ่งก่อสร้างประกอบพร้อมครุภัณฑ์ รวมทั้งงานถนนและระบายน้ำ งานสาธารณูปโภค งานภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามสมเป็นศูนย์ฝึกการบินของประเทศไทยให้พร้อมรับศิษย์การบินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไป

นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกการบิน สบพ. เป็นสถาบันที่มีหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีเฮลิคอปเตอร์ (Commercial pilot – Helicopter Course: CPH) ที่ได้มาตรฐานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นสถาบันหลักในการสร้างนักบินเฮลิคอปเตอร์ให้หน่วยงานของภาครัฐ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพเรือ กรมแผนที่ทหาร กองทัพบก  และหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ รวมถึงทุนส่วนตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ   

กระทรวงคมนาคม ลงทุน 470 ล้าน พลิกโฉมศูนย์ฝึกบิน สถาบันการบินพลเรือน

ในปีนี้จึงได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อจัดหาเฮลิคอปเตอร์ในแบบ Robinson R44 จำนวน 2 ลำ ในวงเงิน 78 ล้านบาทเศษตามที่ สบพ.ร้องขอ เพื่อสนับสนุนภารกิจของชาติด้านความมั่นคง   รวมถึงสนับสนุนภารกิจของภาคเอกชน  ตอบสนองการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน สนับสนุนนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการบินและด้านเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาลต่อไป

พร้อมมอบนโยบายให้ สบพ. เตรียมความพร้อมในการพัฒนาอาคารสถานที่ในเฟสที่สองและเฟสที่สามตามแผนการพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน สบพ.  แผนจัดหาเครื่องบิน เครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) ให้เพียงพอ และการเตรียมครูการบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และรองรับเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคต่อไป