เมืองทองธานี ทุ่มหมื่นล้านต่อยอดอาณาจักร 4 พันไร่ รับรถไฟฟ้า ลุย สมาร์ท ซิตี้

12 เม.ย. 2567 | 04:44 น.

การเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ ทำให้อาณาจักรกว่า 4 พันไร่ในพื้นที่นี้ กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง

การเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ ทำให้อาณาจักรกว่า 4 พันไร่ในพื้นที่นี้ กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ภายใต้การบริหารในยุคเจนใหม่ “พอลล์ กาญจนพาสน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด และพี่ชาย “ปีเตอร์ กาญจนพาสน์”

หากย้อนไปในอดีตตระกูลกาญจนพาสน์ เริ่มต้นธุรกิจในไทย มาตั้งแต่รุ่น “มงคล กาญจนพาสน์” หรือ “อึ้ง จือ เม้ง” คนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเมืองไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างซ่อมแว่นตา นาฬิกา ก้าวมาทำธุรกิจขายนาฬิกา โดยเป็นตัวแทนขายนาฬิกาไซโก้ จากญี่ปุ่น มาจนผลิตและจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ CITY CHAIN ซึ่งมีอยู่ทั้งในฮ่องกงและไต้หวัน กระทั่งเข้ามาสู่การพัฒนาที่ดินทั้งในไทยและฮ่องกง

จากนั้นก็ถึงยุคลูกชายคนโต “อนันต์ กาญจนพาสน์” สร้างอาณาจักรเมืองทองธานี ส่วน “คีรี กาญจนพาสน์” ลูกชายอีกคน สร้างอาณาจักรรถไฟฟ้าบีทีเอส และ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งต่างคนต่างก็ทำธุรกิจของตัวเองกันไป กระทั่งล่าสุดการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 2 ทายาทเป็นครั้งแรก

“รถไฟฟ้าสีชมพูเป็นครั้งแรกที่เราเห็นคุณอา (คีรี กาญจนพาสน์) และคุณพ่อ (อนันต์ กาญจนพาสน์) จับมือกัน ตกลงกัน ทำอะไรด้วยกันสักอย่าง ซึ่งคุณพ่อและคุณอา ถูกเลี้ยงขึ้นมาให้แข่งขันกันตลอด เพราะคุณปู่ (มงคล กาญจนพาสน์) มองว่าถ้าแข่งกันก็จะทำให้ครอบครัวเติบโต ไม่ได้เลี้ยงแบบทำงานร่วมกัน ทำให้คุณอาและคุณพ่อไม่เคยทำอะไรร่วมกัน กระทั่งมีโครง การนี้ ซึ่งจะมี 2 สถานีภายในเมืองทองธานี เกิดขึ้น โดยสถานีแรกที่เข้าสู่อิมแพ็ค เมืองทองธานี กำลังจะเสร็จ ซึ่งมีแนวโน้มเสร็จเร็วขึ้นกว่าสัญญาที่จะเสร็จในเดือนกรกฏาคมปี 2568” พอลล์ กาญจนพาสน์ กล่าว

เมืองทองธานี ทุ่มหมื่นล้านต่อยอดอาณาจักร 4 พันไร่ รับรถไฟฟ้า ลุย สมาร์ท ซิตี้

การเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่น่าจะเปิดวิ่งเข้ามาได้สำเร็จในปีหน้า แม้ว่า “อนันต์ กาญจนพาสน์” จะจากไปก่อนในปี 2563 แต่มีรถไฟฟ้าเข้าเมืองทองธานี ก็เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจในอาณาจักร 4 พันไร่แห่งนี้ของทายาท GEN 2 ของอาณาจักรเมืองทองธานี

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กล่าวถึง วิธีคิดในการทำงานในยุคของเขาว่า ในอดีตการลงทุนของคุณพ่อส่วนใหญ่จะใช้เงินสดในการพัฒนาธุรกิจ ทำเองทั้งหมด แต่สมัยนี้การจะมีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีพันธมิตร ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเมืองทองธานี มีรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามา ทำให้เรามองว่าถึงเวลาที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนในพื้นที่ฝั่งทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งมีพื้นที่ราว 600 ไร่ แต่ที่จะเอามาพัฒนาจะอยู่ขอบทะเลสาบราว 200-300 ไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังทำมาสเตอร์แพลนใหม่อีกรอบ เพราะแพลนเดิมทำไว้ก่อนเกิดโควิด-19

สำหรับการลงทุนหลักรอบทะเลสาบ เมืองทองธานีที่เรามองไว้จะเป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่จะประกอบไปด้วยรีเทล การสร้างเอ็กซิบิชั่น คอนเวนชั่นเพิ่มอาคารสำนักงาน โรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาด 400-500 ห้องมูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ราวหลักหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ด้วยโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ และมีหลายโครงการอย่างการรีเทล ที่เราไม่ถนัด ก็มีการเจรจาที่จะผู้เชี่ยวชาญด้านรีเทลมาร่วมลงทุน ก็เริ่มทยอยหารือบ้างแล้ว เช่นหารือกับกลุ่มเซ็นทรัล แต่ด้วยความที่เรายังทำมาสเตอร์แพลนใหม่ยังไม่เสร็จ ถ้าเสร็จก็คงจะมีการหารือกันเพิ่มเติม

พอลล์ กาญจนพาสน์

ทั้งเรายังมองว่าการลงทุนริมทะเลสาบ โดยบางกอกแลนด์ในพื้นที่นี้ จะไม่ใช่เป็นโครงการสุดท้ายของเมืองทองธานี เพราะในอนาคตถึงแม้เมืองทองธานีจะไม่มีที่ดินเปล่า แต่เรายังตึกชั้นเดียวหรือ 2 ชั้นในพื้นที่ อาทิเอาท์เลต ก็สามารถรื้อทุบในอนาคต แล้วสร้างโครงการใหม่มาต่อยอดธุรกิจและพัฒนาได้อีกลายโครงการต่อเนื่องตลอดเวลา 

นอกจากนี้เรายังมองไปถึงการขยายธุรกิจผ่านการร่วมลงทุน หรือ Joint Venture (JV) เช่นล่าสุดได้ร่วมทุน “Live Nation” ของต่างประเทศ ตั้งบริษัท “อิมแพ็ค ไลฟ์ เนชั่น” รุกธุรกิจจัดงานคอนเสิร์ต-ดนตรี-งานแสดงโชว์ หรือการร่วมทุนกับเอ็กซ์โปลิงค์ จัดงานแสดงงานนิทรรศการ เป็นต้น

ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองทองธานี เราจะยกระดับให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ (Smart City) ซึ่งเริ่มหารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มา 6 เดือนแล้ว มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ การปรับตามสมัยและดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะทำใน 7 แกนหลัก อาทิ การลดพลังงาน, ดิจิตัล, Food Waste, การลงทุน CCTV ซึ่งเมืองทองธานีมีสายไฟเบอร์ออฟติก รอบเมืองทองอยู่แล้ว เราสามารถทำเมืองให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ได้ โดยเราก็ต้องปรับตามการใช้เทคโนโลยี การใช้ชีวิตกับสมาร์ทโฟนทำให้เราก็ต้องปรับ เราก็พัฒนาแอปพลิเคชันให้ลูกบ้านใช้ค่าส่วนกลาง ขยายพื้นที่ทางดิจิทัลมากขึ้น เป็นยุคของเรามากขึ้น

อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ส่วนการบริหารศูนย์อิมแพ็ค เมืองทองธานี ยอดจองพื้นที่โดยรวมในปีนี้เติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตที่แนวโน้มเติบโตไม่ตํ่ากว่า 20% จากปีก่อน เฉพาะการจัดคอนเสิร์ตในอารีน่าช่วงเสาร์-อาทิตย์ ก็เต็ม ถ้าลงที่อารีน่าไม่ได้ เราก็จะผลักดันให้ไปจัดที่ชาเลนเจอร์ หรือในฮอลล์ต่างๆ รวมถึงการจัดเฟสติวัลในพื้นที่ เช่น การจัดเทศกาลอาหารอิมแพ็ค X เชลล์ชวนชิมที่เพิ่งผ่านไป และเรายังมองว่าการที่รัฐบาลผลักดันเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ใน 11 สาขา ก็จะช่วยทำให้เกิดอีเว้นต์ และอิมแพ็ค ก็มีศักยภาพในการรองรับการจัดงาน

เมืองทองธานี ทุ่มหมื่นล้านต่อยอดอาณาจักร 4 พันไร่ รับรถไฟฟ้า ลุย สมาร์ท ซิตี้

อย่างล่าสุด ก็จะมีการจัดงานเทศกาลดนตรีระดับโลก Sonic Bangkok 2024 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3  เป็นต้น ส่วนการแข่งขันในธุรกิจนี้ แม้ปัจจุบันจะมีอารีน่าใหม่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยความที่อิมแพ็ค เปิดมานาน ไม่เหมือนอารีน่าใหม่ ที่เขามีการลงทุนใหม่ มีเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ก็ทำให้ค่าเช่าต้องคิดแพง ช่วงแรกลูกค้าก็อาจไปลองของใหม่ แต่ท้ายสุดผู้จัดงานก็ต้องดูเรื่องของต้นทุนที่เหมาะสม

เมืองทองธานี ทุ่มหมื่นล้านต่อยอดอาณาจักร 4 พันไร่ รับรถไฟฟ้า ลุย สมาร์ท ซิตี้

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนอิมแพ็ค และเมืองทองธานี ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้