"ไทยแอร์เอเชีย"ยังไม่มีแผนควบรวม"ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์"ตอนนี้

09 ม.ค. 2567 | 06:34 น.

ไทยแอร์เอเชียยังไม่มีแผนควบรวมไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ตอนนี้ หลังล่าสุดกลุ่มแอร์เอเชีย ในมาเลเซีย เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน ด้วยการควบรวมสายการบิน แอร์เอเชีย กับ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้เป็นสายการบินเดียวกัน หรือ “One Airline”

จากกรณีล่าสุดที่กลุ่มแอร์เอเชีย ในประเทศมาเลเซีย ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน โดยทาง Capital A Berhad ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอร์เอเชีย ได้ประกาศขายธุรกิจการบินเชิงกลยุทธ์ให้กับแอร์เอเชีย เอ็กซ์

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า จากประเด็นข่าวการรวมกันของสายการบินแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ นั้นเป็นแนวคิดจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มแอร์เอเชีย ในประเทศมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีแผนการควบรวมของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (TAAX) แต่อย่างใด

ธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ Capital A Berhad กลุ่มบริษัทการบินและบริการการเดินทางชั้นนำ และบริษัทแม่ของแอร์เอเชีย ได้ประกาศขายธุรกิจการบินเชิงกลยุทธ์ให้กับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ โดยทำจดหมายข้อเสนอแบบไม่ผูกมัดกับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เบอร์ฮาด (“AAX”) สำหรับข้อเสนอการขายธุรกิจการบินของบริษัท ได้แก่ แอร์เอเชีย เบอร์ฮาด (แอร์เอเชีย มาเลเซีย) และ แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น กรุ๊ป (บริษัทในเครือแอร์เอเชียในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา)

การเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของกลุ่มบริษัท และอำนวยความสะดวกในการประเมินมูลค่าธุรกิจที่มุ่งเน้นธุรกิจเป็นศูนย์กลางของหน่วยงานที่แยกจากกัน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้มากขึ้น

การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสายการบินให้เจริญเติบโตต่อไปในอนาคต ภายใต้เป้าหมายหลัก “One Hub Strategy” หรือ กลยุทธ์ศูนย์กลางการบินเดียว ด้วยการมอง “อาเซียน” เป็นฮับบินใหญ่ของโลก เชื่อมต่อการเดินทางข้ามสู่ภูมิภาคต่างๆ

รวมถึงการปรับโครงสร้างให้เป็น “สายการบินเดียว” หรือ “One Airline” ด้วยการรวมสายการบิน แอร์เอเชีย กับ แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในประเทศมาเลเซีย ให้เป็นสายการบินเดียวกัน

ด้านนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Capital A เจ้าพ่อสายการบินโลว์คอสต์กลุ่มแอร์เอเชีย (AirAsia) กล่าวว่า  หน่วยธุรกิจทั้งหมดของ Capital A กำลังเติบโต และเพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง เราจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจ แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากสถานะ Practice Note 17 (“PN17”) ของ Capital A ขณะนี้เราได้มีการพูดคุยกับนักลงทุนที่มีความสนใจอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นเฉพาะมิติด้านธุรกิจการบินอย่างแท้จริง

โทนี่ เฟอร์นานเดส

ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงทางการเงินที่แข็งแกร่ง เราจึงการขายธุรกิจการบินให้กับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เพื่อให้เกิดหน่วยธุรกิจที่มุ่งเน้นด้านการบินโดยเฉพาะอย่างแท้จริง โดยการรวมสายการบินทั้งระยะไกลและระยะสั้นภายใต้แบรนด์แอร์เอเชีย 

ภายใต้การเจรจานี้ เรามั่นใจว่าจะทำให้ธุรกิจการบินได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการที่มีความเฉพาะทาง ตลอดจนทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจการบินในการคว้าโอกาสการเติบโต ขยายส่วนแบ่งการตลาด และบรรลุผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในท้ายที่สุด

เรามั่นใจว่าการแยกธุรกิจการบินออกจาก Capital A จะมีส่วนทำให้ธุรกิจอื่นๆ ภายในกลุ่ม ที่ไม่ได้เกี่ยวของกับการบิน ซึ่งปัจจุบันอาจจะยังถูกประเมินค่าในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงเกินไป จะได้รับการยอมรับในคุณค่าและศักยภาพที่แท้จริงด้วย 

ขณะเดียวกันบริษัทของ Capital A ซึ่งรวมถึง Teleport (โลจิสติกส์), Capital A Aviation Services (MRO และ Inflight) และ MOVE digital ก็จะระดมทุน โดยเสนอให้ผู้ถือหุ้นได้เพิ่มหุ้น Capital A ของตน เสริมด้วยหุ้นในกลุ่มการบินที่ขยายใหญ่ขึ้นภายใต้ข้อเสนอ

การกระจายหุ้น หลังจากการขายธุรกิจการบิน ผู้ถือหุ้น Capital A จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งทั้งสองแห่ง เราเชื่อว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะนำความชัดเจนมาสู่การลงทุน สร้างฐานผู้ถือหุ้นที่มุ่งเน้นมากขึ้น และปลดล็อคมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของเราในท้ายที่สุด

การตัดสินใจในครั้งนี้ เพื่อสร้างกิจการที่มีบทบาทที่ชัดเจนสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ให้ข้อมูลที่โปร่งใส มีการประเมินมูลค่าที่ชัดเจนได้ และมีจุดแข็งที่แตกต่างกันของธุรกิจการบิน และธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน

มีการประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ Bursa Malaysia โดยหลังจากที่ธุรกิจการบินฟื้นตัวและได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง Capital A มุ่งมั่นที่จะนำเสนอแผนการปรับมาตรฐาน PN17 ที่ครอบคลุมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ดังนั้น Capital A พร้อมทุ่มเทให้กับการสื่อสารที่โปร่งใส และจะให้ข้อมูลโดยละเอียดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดตลอดกระบวนการนี้