เจาะลึกเทรนด์ท่องเที่ยว "LGBTQ+" 19.7 ล้านล้าน ททท.แนะเอกชนชิงโอกาส

08 ส.ค. 2566 | 08:39 น.

เจาะเทรนด์ท่องเที่ยว LGBTQ+ ทั่วโลกมูลค่า 568.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 19.70 ล้านล้านบาท) ในปี 2573 ททท.แนะผู้ประกอบการไทยสร้างความได้เปรียบชิงตลาดสีรุ้ง

จากการสำรวจความเคลื่อนไหวของแวดวงการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ พบตัวเลขที่น่าสนใจคือ ตลาดการท่องเที่ยวในกลุ่มเพศทางเลือก หรือ LGBTQ+ ทั่วโลก ได้รับการคาดหมายว่าจะสูงถึง 568.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 19.70 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573

เจาะลึกเทรนด์ท่องเที่ยว \"LGBTQ+\" 19.7 ล้านล้าน ททท.แนะเอกชนชิงโอกาส

การเติบโตของการท่องเที่ยวในกลุ่ม LGBTQ+ เป็นผลมาจากการเปิดกว้างมากขึ้นในหลายๆ ประเทศพัฒนาแล้ว ที่ให้การยอมรับความเสมอภาคทางเพศ ส่งผลให้ประเทศท่องเที่ยวชั้นนำตระหนักถึงความสำคัญของการต้อนรับและให้บริการนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้

ข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council ระบุว่า กลุ่ม LGBTQ+ มีสัดส่วนมากกว่า 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกและคิดเป็นราว 16% ของค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งมากกว่า 195 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

แนวโน้มการท่องเที่ยว กลุ่ม LGBTQ+

ทั้งจากการวิจัยของ Booking.com ซึ่งเป็นระบบจองที่พักออนไลน์ระดับโลก ยังพบว่า 64% ของนักเดินทาง เลือกจองที่พักกับแบรนด์ที่เข้าใจ LGBTQ+ มากที่สุด ไปจนถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะ LGBTQ+ ของสถานที่นั้นๆ เช่นกฎหมายท้องถิ่น ความอ่อนไหวทางศาสนา ข้อบังคับเรื่องเสื้อผ้า และสถิติการเกลียดชัง LGBTQ+ ผู้เดินทาง

อย่างไรก็ตามปัจจุบันสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เยอรมนี, ออสเตรเลีย และอินเดีย อนุญาตให้พลเมืองของตนสามารถระบุตัวเลือกเพศที่สาม X gender ในเอกสารการเดินทางอย่างเป็นทางการได้ ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ได้ปรับปรุงระบบการจองเพื่อให้ผู้เดินทางระบุตัวเลือกเพศที่สาม เพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือเดิน ทางที่เป็นกลางทางเพศ Gender neutral passports ที่ออกสหรัฐอเมริกา ขณะที่เดลต้า แอร์ไลน์ ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการระบบเพื่อชาว LGBTQ+เช่นกัน

สำหรับตลาดการท่องเที่ยว LGBTQ+ อเมริกาเหนือถือเป็นผู้ครองตลาดนี้อยู่ ทั้งการยอมรับ โดยหลายประเทศออกกฏหมายให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันและให้ความคุ้มครองต่อต้านการเลือกปฏิบัติแก่บุคคล LGBTQ+ ทั้งยังมีกิจกรรมหลากหลาย มีบริษัททัวร์ โรงแรมที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+

ขณะที่เอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีชุมชน LGBTQ+ ที่มีชีวิตชีวาโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น มุมไบ เดลี บังกาลอร์ มีบาร์คลับ คาเฟ่ที่เป็นมิตรกับกลุ่มนี้ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ขบวนพาเหรดและเทศกาล ภาพยนตร์ และรัฐบาลส่งเสริมให้อินเดียเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับนักเดินทางกลุ่มนี้

เจาะลึกเทรนด์ท่องเที่ยว \"LGBTQ+\" 19.7 ล้านล้าน ททท.แนะเอกชนชิงโอกาส

ขณะเดียวกันก็ยังพบว่า 10 อันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ มากที่สุดในโลก ได้แก่ สวีเดน, มิโคนอส ประเทศกรีซ, แวนคูเวอร์ แคนาดา, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย, เคปทาวน์ แอฟริกาใต้, ไอซ์แลนด์, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, ไทเป ไต้หวัน, เทลอาวีฟ อิสราเอล, มอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย

ส่วน “ไทย” ก็เป็นประเทศที่เปิดกว้างและได้รับการยอมรับในความเป็น “LGBTQ+ Friendly” อยู่แล้ว จึงมีโอกาสที่ดี ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ทรงพลังนี้

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าหากผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยสนใจที่จะทำการตลาดกับกลุ่มนี้ควรศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้ง เพื่อออกแบบสร้างสรรค์สินค้าและบริการการท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องและถูกใจ “เสน่ห์ของ LGBTQ+ ที่พิเศษก็คือ รักแล้วรักเลย ไม่เปลี่ยนใจ มี Loyalty สูง” ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ท้าทาย

อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ

นักเดินทาง LGBTQ+ ใช้จ่ายมากกว่า และเดินทางบ่อยกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป จึงเป็นกลุ่มเฉพาะ หรือ Niche ที่แม้จะเล็ก แต่ก็ทรงพลังมากในการจับจ่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงไม่ควรพลาดที่จะทำความเข้าใจในความคิด ความสนใจของ LGBTQ+ ในหลายๆ ประเด็น เช่น ความต้องการการยอมรับ การให้เกียรติ บางครั้งเมื่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ใช้รูปภาพของนักเดินทาง LGBTQ+ ในสื่อโฆษณา ถือเป็นการส่งข้อความว่ายินดีต้อนรับโดยไม่แบ่งแยกสำหรับความหลากหลายทางเพศ

การสื่อสารการตลาด โดยแสดงความเป็นพันธมิตรกับนักเดินทางกลุ่มนี้ ก็จะส่งอิทธิพล และสร้างความมั่นใจอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเดินทาง กฎหมายต่อต้านคนข้ามเพศ หรือทัศนะของคนในท้องถิ่นก็เป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญ ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางในประเทศนั้นๆ

เจาะลึกเทรนด์ท่องเที่ยว \"LGBTQ+\" 19.7 ล้านล้าน ททท.แนะเอกชนชิงโอกาส

คำถามที่รุกรานหรือรุกลํ้าความเป็นส่วนตัว ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความระมัดระวัง ขณะเดียวกันกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็มีทัศนะต่อการแสดงความรักว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น การจับมือกัน หรือแสดงความรักในที่สาธารณะ นักเดินทางในกลุ่มนี้ ออกสำรวจสถานที่ใหม่ๆ เพื่อการพักผ่อน และรู้จักสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งเป็นแรงจูงใจอันดับต้นๆ ในการวางแผนการเดินทางเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการพบปะผู้คนใหม่ๆ และความมีอิสระในการแสดงตัวตน ก็เป็นสิ่งที่ชาว LGBTQ+ เสาะแสวงหา ดังนั้น เทศกาล PRIDE POWER ขบวนพาเหรดและปาร์ตี้ไพรด์ในหลายประเทศ จึงถือเป็นงานสำคัญในปฏิทินประจำปีของนักเดินทางในกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรสร้างความได้เปรียบชิงตลาดสีรุ้งที่มีการเติบโตต่อเนื่องเช่นนี้