นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทาง สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 (มกราคม – มีนาคม) มีมูลค่าการส่งออกรวม 33,167.38 ล้านบาท หดตัว 16.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเกิดจากปริมาณการส่งออกมันเส้นลดลงเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบ มีมูลค่ารวม 18,116.19 ล้านบาท ขยายตัว 49.12% แป้งมันสำปะหลังแปรรูป มีมูลค่ารวม 8,578.13 ล้านบาท ขยายตัว 4.99% ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ มีมูลค่าการส่งออก ดังนี้ มันเส้น 5,930.36 ล้านบาท ลดลง 67.90% มันสำปะหลังอัดเม็ด 76.33 ล้านบาท ลดลง 76.21% และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอื่น ๆ 466.00 ล้านบาท ลดลง 48.00%
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ภาพรวมการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของโลก ในช่วงต้นปี ไทยยังคงครองส่วนแบ่งตลาดโลกเป็นอันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 18.70% ของมูลค่าการส่งออกของทั้งโลก รองจากไทย ได้แก่ เวียดนาม ลาว สหรัฐอเมริกา และ จีน โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.19, 9.37, 5.28 และ 4.10 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดไปตลาดจีนถึง 48.00% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปโลก และไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของจีน
ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญอื่น ๆ ของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย ร้อยละ 12.82 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปโลก
สำหรับผลผลิตปี 2567 ได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ตุลาคม 2566 ไปจนถึงกันยายน 2567 โดยมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 3,096 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 6.27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) และคาดว่าตลอดปี 2567 จะมีผลผลิต 26.88 ล้านตัน (ลดลง 12.21% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาโรคศัตรูพืช เช่น โรคใบด่าง โรคพุ่มแจ้ ภาวะแล้ง ขาดแคลนน้ำ ทำให้มันสำปะหลังในหลายพื้นที่ยืนต้นตาย ทั้งนี้ ผลผลิตปี 2567 ได้ทยอยออกสู่ตลาดไปแล้วกว่า 80% ของผลผลิตในภาพรวมปีนี้
ทั้งนี้ แป้งมันสำปะหลังใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา กระดาษ สิ่งทอ กาว หรือเอทานอล จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ ซึ่งวันนี้กลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้คนให้ความสนใจ จุดเด่นนี้จึงช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางการตลาดให้กับแป้งมันสำปะหลัง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร
ขณะเดียวกัน ก็เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทนความแห้งแล้ง ทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงวิกฤติความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น
ดังนั้น หากรัฐบาลเร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ทนโรคและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังที่หลากหลายด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ก็จะสามารถช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก มันสำปะหลังในประเทศไทยที่มีจำนวนกว่าเจ็ดแสนครัวเรือนได้แน่นอน” นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการตามแนวปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การพยากรณ์อากาศ และเทคโนโลยีด้านการเกษตรขั้นสูง เช่น โดรน เซ็นเซอร์ และภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อประกอบการตัดสินใจเพาะปลูก การบริหารจัดการน้ำ การจัดการศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยว ตลอดจนใช้เครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงและการประกันภัย อาทิ การประกันพืชผล และการกระจายความหลากหลายของ พันธุ์พืชที่ปลูก เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน