"GIT" รุกดันนักออกแบบอัญมณี-เครื่องประดับ รับส่งออกโต 1.8 พันล้านดอลลาร์

25 เม.ย. 2567 | 04:15 น.

"GIT" รุกดันนักออกแบบอัญมณี-เครื่องประดับ รับส่งออกโต 1.8 พันล้านดอลลาร์ เดินหน้าจัดโครงการประกวดการออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ Enchanted Hues – Unlocking the Secrets of Primary Colors Theory

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า GIT ได้ดำเนินการเปิดโอกาสให้กลุ่มนักออกแบบมืออาชีพและรุ่นใหม่ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจทั่วโลกได้มีเวทีในการแสดงศักยภาพแห่งความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่ทิศทางด้านการออกแบบฉายภาพแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (Jewelry Design Trend)

ทั้งนี้ โดยการดำเนินการผ่านโครงการประกวดการออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ Enchanted Hues – Unlocking the Secrets of Primary Colors Theory การออกแบบที่ต้องผสมผสานอัญมณีธรรมชาติ 3 สี ได้แก่ ทับทิม ไพลิน และบุษราคัม ผสมผสานองค์ประกอบของศิลปะ หลอมรวม ความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ สู่การออกแบบเป็นคอลเลกชั่น High Jewelry ที่มีจินตนาการและนวัตกรรมเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงามและน่าหลงใหลอย่างแท้จริง
 

อย่างไรก็ดี GIT ได้วางแผนในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด โดยนักออกแบบสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Community Platform : GIT Jewelry Design Gallery ซึ่งเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงระหว่างนักออกแบบและผู้ประกอบการในการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องประดับให้ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับนักออกแบบ และ 4 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นคะแนนสูงสุด จะได้ผลิตเป็นเครื่องประดับจริงเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป

"GIT" รุกดันนักออกแบบเครื่องประดับ-อัญมณี รับส่งออกโต 1.8 พันล้านดอลลาร์

"การดำเนินการดังกล่าวเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนารูปแบบเครื่องประดับขึ้นในวงการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้นักออกแบบรุ่นใหม่และผู้สนใจในการออกแบบเครื่องประดับได้มีโอกาสนำเสนอผลงานตลอดจนให้มีการนำผลงานออกแบบไปผลิตชิ้นงานจริง และสร้างความตื่นตัวในเรื่องการออกแบบ"

สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สินค้าส่งออกในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วน 6.59% ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวตัวเพิ่มขึ้น 57.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 1,927.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 3,031.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,822.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 14.78% ซึ่งเห็นได้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญอยู่กับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้น