“เผ่าภูมิ” แย้งข้อเสนอ ธปท. “แจกเงินดิจิทัล” 15 ล้านคน ไม่ตอบโจทย์

24 เม.ย. 2567 | 08:47 น.

“เผ่าภูมิ” เลขา รมว.คลัง ซัดธปท. แย้งข้อเสนอ “แจกเงินดิจิทัล” 15 ล้านคน ยังไม่ตอบโจทย์ ระบุต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เยียวยา ยันไม่กระทบเครดิตประเทศ หนุนกระตุ้นจีดีพีเพิ่ม 1.8%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาในครม. สำหรับการพิจารณาโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 โดยขอให้ดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ว่า เรื่องกลุ่มเปราะบางนั้น เป็นเรื่องที่คุยกันเยอะมาก และมีข้อถกถียงกันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการนี้ ไม่ใช่การเยียวยา หากเป็นการเยียวยา รัฐบาลจะดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตนั้น รัฐบาลมีจุดประสงค์ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เม็ดเงินต้องใหญ่พอ คนที่เข้าร่วมต้องใหญ่พอ เพื่อให้เม็ดเงินกระจาย ดังนั้น ถือว่าเป็นคนละโจทย์

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ข้อเสนอของธปท.นั้น ที่ผ่านมามีการรับฟัง และนำมาปรับ เรามีการคุยกับแบงก์ชาติต่อเนื่อง ซึ่งแบงก์ชาติก็อยู่ในคณะกรรมการดิจิทัล คณะกรรมการก็มีการตัดสินใจในรูปแบบที่เหมาะสม แบงก์ชาติก็ได้พูดความเห็นหลายครั้ง และที่ประชุมก็รับทราบ ก็มีสิ่งที่เราเห็นไม่ตรงกัน ที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็แนะนำให้แจกกลุ่มเปราะบาง เราตัดคนออกไปบางส่วนแล้ว แต่จะให้ตัดเหลือแค่กลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน เราคิดว่า ยังไม่ตอบโจทย์”

ขณะเดียวกัน การออกโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะมองเฉพาะเรื่องการกระตุ้นบริโภคอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองต่อเรื่องการลงทุน ซึ่งการลงทุนของประเทศมีปัญหา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบมา 16 เดือนติด ผลผลิตคงค้างอยู่ระดับต่ำกว่า 50% ส่งผลให้เรื่องการผลิตของประเทศมีปัญหา

“เรามองว่า กำลังซื้อที่เห็นอยู่ไม่ได้สะท้อนการบริโภคจริง จะบอกว่า กำลังซื้อแข็งแรงไม่ได้ หากกำลังซื้อแข็งแรงต้องตามมาด้วยกำลังการผลิตที่แข็งแรง ถ้าเป็นอย่างนี้จริง เราจะยอมรับ อันนี้ เป็นกำลังซื้อที่การผลิตไม่ดี และภาคเอกชนดูแล้วว่า กำลังซื้อที่เกิดขึ้น ไม่ได้สะท้อนตัวเลขจริง เรามองว่าเศรษฐกิจยังต้องการการกระตุ้น”

ทั้งนี้ หากการบริโภคดีจริง ก็สะท้อนไปที่การลงทุน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เห็น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัว แต่อีกหนึ่งปัจจุบันสำคัญ คือ การผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบต่อเนื่อง ซึ่งหากติดลบอีก 1 เดือน จะนานที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

ขณะที่ ธปท. เสนอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างประเทศมากกว่าการกระตุ้นบริโภคนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ข้อนี้ มองสั้นไปหรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้มองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคแล้วหายไป รัฐบาลมองว่า นี่คือ การกระตุ้นกำลังซื้อที่ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และเกิดการจับจ่ายใช้สอย มีการจ้างงานและผลิตใหม่ๆ เพิ่ม ซึ่งเป็นจุดแรกที่เราจะกระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น และรัฐบาลก็จะมีมาตรการอื่นเข้าไปช่วยเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่ธปท.มองหากดำเนินโครงการดังกล่าว จะส่งผลต่อภาระการคลังระยะยาว กรณีเกิดวิกฤตขึ้นจริง จะมีพื้นที่ทางการคลังน้อย นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ธปท.อาจจะมีความเป็นห่วงเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม เรากำลังพูดถึงจีดีพี ซึ่งเป็นการมองผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เวลาเรามองเรื่องของนโยบายการคลัง การใส่เม็ดเงินเข้าไป ซึ่งเป็นการกู้ยืม หนี้สาธารณะก็เพิ่ม แต่ต้องดูตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นตัวหารหนี้สาธารณะให้ลดลง

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ได้กังวลเรื่องเครดิตประเทศ เนื่องจากไม่ได้ดำเนินโครงการเฉพาะการก่อหนี้ แต่จะต้องดูรายละเอียดโครงการด้วยว่า เป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ การที่จะบอกว่า หน่วยงานประเมินเครดิตประเทศดูเรตติ้งเฉพาะการกู้เงิน นั้นไม่ได้

“เราประเมินว่าการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม 1.2-1.8% ในระยะเวลา 1-2 ปีแรก ต้องบอกว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่มีเงื่อนไขใหม่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เราไม่เคยทำมาก่อน การใช้ตัวประมาณการอาจไม่สามารถอ้างอิงได้มาก ซึ่งเรามีการคาดการณ์โดยกระทรวงการคลัง ที่มีตัวเลขใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่ข้อมูลมี