“กิตติกานต์” โต้สหภาพฯ ปม 4 ข้อร้องเรียน ยื่นหนังสือคมนาคม ปลด ผอ.ขสมก.

24 เม.ย. 2567 | 05:46 น.

“กิตติกานต์” แจง คมนาคม หลังสหภาพฯ ยื่นหนังสือ 4 ข้อร้องเรียน ถึงนายกฯ-คมนาคม ปลด ผอ.ขสมก. เร่งเดินหน้าบอกเลิกสัญญา บมจ.ช ทวี เหตุผิดสัญญาเหมาซ่อมรถโดยสาร กระทบประชาชนใช้บริการ

นายกิตติกานต์ จอมดวงจารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ทำหนังสือยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ขอให้ปลดตน หลังจากเข้ามาบริหารงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ว่า ต้องมองว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่สหภาพฯสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รวมถึงข้อร้องเรียนที่ได้ยื่นนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเรามองว่าเรื่องนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริง เบื้องต้นนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกตนเข้าไปพบเพื่อชี้แจงถึงข้อร้องเรียนดังกล่าวแล้ว 

สำหรับประเด็นที่ชี้แจงต่อกระทรวงคมนาคมถึงข้อร้องเรียนดังกล่าวนั้น โดยเฉพาะเรื่องการบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมกับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO หรือ บมจ.ช ทวี ปัจจุบันพบว่ามีรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน ที่จอดเสียรอการซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามสัญญาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาบมจ.ช ทวี ผิดสัญญาไม่มีการซ่อมให้ขสมก. โดยตามปกติจะมีการเซ็นรับรองการซ่อมก่อนนำรถออกให้บริการทุกคันตามข้อสัญญา 
 

นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า หากไม่มีช่างดำเนินการส่งมอบรถตามสัญญา ทำให้รถไม่สามารถพร้อมใช้งานได้ ส่งผลให้ขสมก.ไม่มีความพร้อมนำรถออกให้บริการแก่ประชาชน โดยที่ผ่านมาขสมก.ได้มีการส่งหนังสือถึงบมจ.ช ทวี หลายครั้งให้เร่งรัดดำเนินการตามสัญญา แต่บมจ.ช ทวี ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญา ส่งผลให้คณะกรรมการตรวจรับงานฯ ในสัญญาตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างได้มีการรายงานมาถึงตนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา เห็นควรให้บอกเลิกสัญญากับบมจ.ช ทวี  

 

ส่วนประเด็นที่รถโดยสารจอดซ่อมเสียไว้นาน แต่ทำไมขสมก. เพิ่งบอกเลิกสัญญานั้น ตามข้อสัญญาระหว่างขสมก.และบมจ.ช ทวี มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.หากทำงานแล้วเกิดผิดสัญญาหรือทำงานต่อแล้วเกิดความเสียหายต่อองค์กร ขสมก. มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยขสมก. จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน 

 

2.ในข้อ 22 ของสัญญาระบุว่า หากเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่สัญญาให้เชิญมาเจรจาและพูดคุย ในกรณีที่หารือแต่ยังไม่ได้ข้อยุติต้องเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.วินิจฉัย โดยมีการเสนอต่อบอร์ดขสมก.เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบอร์ดฯได้วินิจฉัยให้ดำเนินการตามคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในการบอกเลิกสัญญาแก่บมจ.ช ทวี  
 

“เราในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่เร่งรัดตรวจสอบกระบวนการทุกอย่างให้ครบถ้วนและดำเนินการบอกเลิกสัญญา ส่วนเรื่องความเสียหายและการยึดหลักประกันสัญญาในรายละเอียดต่างๆจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสัญญา คาดว่าจะดำเนินการบอกเลิกสัญญาแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้”

 

นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า ตนและคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันได้หารือร่วมกันในประเด็นรถโดยสารที่จอดเสียต้องไม่กระทบต่อประชาชน เพราะการบริการรถสาธารณะมีความสำคัญมาก ดังนั้นขสมก. ได้มีการปรับแผนเวลาการเดินรถ โดยโยกย้ายจำนวนรถและเส้นทางเดินรถที่มีผลกระทบน้อย รวมทั้งเส้นทางที่ไม่มีรถวิ่งให้บริการ เพื่อให้ประชาชนได้เดินทาง นอกจากนี้ขสมก.ได้มีการเชิญกลุ่มผู้ใช้รถโดยสารเป็นประจำหรือกลุ่ม Bus Fan เข้ามาร่วมประชุมเพื่อหารือถึงปัญหาร่วมกันในการย้ายสายรถโดยสารหรือโยกย้ายรถเพิ่มเติมซึ่งขสมก. ได้เริ่มดำเนินการโยกย้ายสายรถเมล์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะต้องมีการประเมินผลด้วย 

 

ทั้งนี้ขสมก. ได้มีการประเมินผลหลังจากดำเนินการปรับแผนการเดินรถ พบว่า ก่อนที่รถโดยสารจอดเสียมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการ 650,000 คน ส่วนการดำเนินการหลังจากขสมก.ได้โยกย้ายสายเดินรถ ภายหลังจากรถเสียยังมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการ 630,000 คน ถือเป็นสถิติปริมาณผู้โดยสารที่ใกล้เคียงกับในช่วงก่อนรถโดยสารจอดเสีย ซึ่งการโยกย้ายการเดินรถ ส่งผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน แต่ขสมก. จะดำเนินการให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด