ทะลวง “รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล” 33 เส้นทาง รุกขนส่งระบบราง

17 เม.ย. 2567 | 01:00 น.

เปิด 33 เส้นทาง "รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล" ปลุกระบบขนส่งทางรางในประเทศ อัพเดทรถไฟฟ้า 13 เส้นทาง เปิดให้บริการ ยาว 276 กม. ปักหมุดปี 71-72 "คมนาคม" ดันรถไฟฟ้าสายใหม่ 12 เส้นทาง

KEY

POINTS

  • เปิด 33 เส้นทาง "รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล" ปลุกระบบขนส่งทางรางในประเทศ
  • อัพเดทรถไฟฟ้า 13 เส้นทาง เปิดให้บริการ ยาว 276 กม. ปักหมุดปี 71-72
  • "คมนาคม" ดันรถไฟฟ้าสายใหม่ 12 เส้นทาง

ที่ผ่านมาภาครัฐได้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางให้เป็นแกนหลักด้านการคมนาคมของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล

 

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการขยายโครงสร้างพื้นฐานระบบรางทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกมากขึ้น พบว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เปิดให้บริการแล้ว 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 194 สถานี เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสุขุมวิท) ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต,โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสีลม) ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า,โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

 

รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี,โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ฯลฯ

 

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมี จำนวน 4 โครงการ ระยะทางรวม 70.40 กม. จำนวน 68 สถานี ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. จำนวน 10 สถานี มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 47.22% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2568

 

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. จำนวน 5 สถานี มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 28.62% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2571

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (ตะวันออก) ระยะทาง 22.50 กม. จำนวน 23 สถานี มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 100% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2571 4.โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.80 กม. จำนวน 30 สถานี มีความคืบหน้าการก่อสร้าง 97.21% โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2572

 

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง จำนวน 3 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ระยะทางรวม 29.34 กม. ประกอบด้วย 1. ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง8.84 กม.วงเงิน 6,473 ล้านบาท 2.ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท

 

3.ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน4,616 ล้านบาท ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางขุนนนท์ (ตะวันตก) ระยะทาง 13.40 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคา ตามแผนจะเปิดให้บริการภายในปี 2572

 

นอกจากนี้ในอนาคตกระทรวงคมนาคมยังมีแผนเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 162.93 กม. โดยจะเปิดให้บริการภายในปี 2571-2572 ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. 2.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. 3.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทาง 38 กม.

 

4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.10 กม. 5.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว(สุขุมวิท) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.50 กม. 6.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สุขุมวิท) ช่วงลำลูกกา-คูคต ระยะทาง 6.50 กม.

7. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม. 8.โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงคลองสาน-ประชาธิปก ระยะทาง 0.92 กม. 9.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. 10.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-ท่าพระ ระยะทาง 23.66 กม. 11.โครงการรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทร ระยะทาง 9.50 กม. และ 12.โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.60 กม.

ทะลวง “รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-ปริมณฑล” 33 เส้นทาง รุกขนส่งระบบราง

หากในอนาคตกระทรวงคมนาคมสามารถพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบบรางมากขึ้นแทนการใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยลดการจราจรติดขัดในพื้นที่และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี