กฎหมายแรงงานคุม “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” นายจ้างเบี้ยว เจอโทษหนัก ปรับ-ติดคุก

04 เม.ย. 2567 | 05:23 น.

ผ่ากฎหมายแรงงานคุม “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” รอบใหม่ หลังครม.ไฟเขียวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน 2567 นายจ้างเบี้ยวไม่ยอมขึ้นค่าจ้างให้ เจอเจอโทษหนัก ทั้งปรับ และติดคุก

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” รอบใหม่ ครั้งที่สองของปี 2567 ให้กับลูกจ้างในธุรกิจประเภทโรงแรม วันละ 400 บาท ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือไตรภาคี ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นของขวัญต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ไทย 2567

การดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมายแรงงาน และหากนายจ้างไม่ทำตามจะถือว่ามีความผิด มีบทลงโทษ ซึ่งในรายละเอียดของข้อกฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ฐานเศรษฐกิจ ขอสรุปข้อมูลมาให้ชัด ๆ ว่าข้อกฎหมายและมติครม.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีอะไรบ้าง

 

ภาพประกอบข่าว การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” วันละ 400 บาท

ข้อกฎหมายและมติครม.ที่เกี่ยวข้อง 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551

มาตรา 79 คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ใน (3) กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

มาตรา 88 เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 87 แล้ว ให้คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 90 เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนด

มาตรา 144 นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560

มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้าง ศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม 

รวมทั้งการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการงานหรือสาขา อาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม บางประเภท คณะกรรมการค่าจ้างอาจพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างจากที่พิจารณากำหนด ในวรรคสอง เพื่อใช้สำหรับลูกจ้างกลุ่มนั้นหรือประเภทนั้นในกิจการ งานหรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ค่าจ้างดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด

 

ภาพประกอบข่าว การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 2567 วันละ 400 บาท

 

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน

สำหรับกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเภทกิจการโรงแรม สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยนำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัด

ทั้งนี้ได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเงินวันละ 400 บาท ปรับเพิ่มอัตราวันละ 30-55 บาท แล้วแต่เขตพื้นที่ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 ดังนี้

กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน วัฒนา

  • เดิมวันละ 363 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 37 บาท)

กระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง

  • เดิมวันละ 347 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 53 บาท)

ชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา

  • เดิมวันละ 361 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 39 บาท)

เชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

  • เดิมวันละ 350 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 50 บาท)

ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน

  • เดิมวันละ 345 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 55 บาท)

พังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก

  • เดิมวันละ 345 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 55 บาท)

ภูเก็ต 

  • เดิมวันละ  370 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 30 บาท)

ระยอง เฉพาะเขตตำบลเพ

  • เดิมวันละ 361 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 39 บาท)

สงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่

  • เดิมวันละ 345 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 55 บาท)

สุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย

  • เดิมวันละ 345 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 55 บาท)