เร่งท่องเที่ยว-ส่งออก-ลดดอกเบี้ย ลุยลงทุนภาครัฐ ดัน GDP โตเกิน 3%

31 มี.ค. 2567 | 02:43 น.

เพียงไตรมาสแรกของปีนี้ สำนักเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินแห่ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงตามกัน

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งเป็นหน่วยงานด้านข้อมูลเศรษฐกิจของหอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวจีดีพีไทยปี 2567 ณ เดือนมีนาคม คาดจะขยายตัวได้ที่ 2.6% จากเดือนมกราคม คาดจะขยายตัวได้ 3.2% (ยังไม่รวมผลของโครงการ Digital Wallet)

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวตํ่ากว่าที่คาดไว้เดิม โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดตัวเลขการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกจาก 3.5% ลงเหลือ 3.3% มีสาเหตุจากปัญหาในทะเลแดง การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวจนถึงหดตัว รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายงบลงทุน ทำได้ตํ่ากว่าที่เคยคาดไว้เดิม

เร่งท่องเที่ยว-ส่งออก-ลดดอกเบี้ย ลุยลงทุนภาครัฐ ดัน GDP โตเกิน 3%

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ทางศูนย์ฯ คาดแนวโน้มซบเซา จากมีปัจจัยเสี่ยงหรือข้อจำกัดในเรื่องความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล, ภาระหนี้ที่สูงกดดันให้ยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต้องปฏิเสธสินเชื่อ, การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว

ไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว มีปัจจัยสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของรัฐบาล (3.48 ล้านล้านบาท) จะเริ่มต้นเบิกจ่ายได้ ภาคการผลิตและภาคการส่งออกฟื้นตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว มีปัจจัยสนับสนุนจาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้จะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ภาคการผลิตและภาคการส่งออกฟื้นตัว

ส่วนไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการผลิตและภาคการส่งออกฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และ กนง. แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ที่สูงกดดันให้ยอดหนี้เสียเพิ่มขึ้นและทำให้สถาบันการเงินต้องปฏิเสธสินเชื่อ

สอดคล้องกับในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมีนาคม 2567 ได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยในส่วนของภาคการส่งออก ปัญหาวิกฤตในทะเลแดงส่งผลให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับตํ่า ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิม ยังต้องใช้เวลา

ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศถูกกดทับจากปัญหาหนี้ครัวเรือน(หนี้ครัวเรือนไทย ณ มี.ค. 67 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท สัดส่วน 90.9% ของจีดีพี) แม้ภาคการส่งออกมีแนวโน้ม กลับมาขยายตัวได้ แต่ กกร.คาดทั้งปีนี้มูลค่าการส่งออกไทยจะเติบโตได้ในระดับตํ่าที่ 2.0-3.0% และยังคงคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.8-3.3% ตามที่ประเมินไว้เดิมในเดือนกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าทางเลือกของเครื่องมือ (นโยบาย/ มาตรการ) ที่รัฐบาลสามารถใช้ขับเคลื่อนให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 3% ที่สำคัญคือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ โดยทุกๆ 1 แสนล้านบาทของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบาล จะมีผลทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.52%, การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุน โดยทุกๆ 1 แสนล้านบาทของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐจะมีผลทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.68%

การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจำนวนทุกๆ 1 ล้านคนที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.26%, การเพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้า โดยทุกๆ 1 แสนล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.60% และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทุก ๆ 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง (มีผลทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านบาท) มีผลทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.12%

จะเห็นว่าทางเลือกเครื่องมือของรัฐบาลในการขับเคลื่อนจีดีพีไทยให้ขยายตัวได้มากกว่า 3% ยังมีอยู่มาก ซึ่งในส่วนของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน (7.17 แสนล้านบาท) อาจจะสามารถควบคุมได้ตามไทม์ไลน์ ส่วนการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (เป้าหมาย 35 ล้านคน) การเพิ่มรายได้จากการส่งออก และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี) ยังมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร และยังต้องรอลุ้นว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร

ดังนั้นระหว่างทางข้างหน้าที่จะเดินไป รัฐบาลคงต้องเร่งออกมาตรการ/โครงการ เข้ามาเสริมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างขนานใหญ่ ไม่เช่นนั้นเป้าหมายจีดีพีโตเกิน 3% ในปีนี้คงเป็นได้แค่ฝัน