KKP เตือน สินค้าจีนตีตลาด ปัญหาใหญ่ภาคการผลิตและส่งออกไทย 

17 มี.ค. 2567 | 04:00 น.

KKP เตือน สินค้าจีนตีตลาด พบไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ จีนใช้ไทยใช้เป็นช่องทางในการส่งออก (Re-routing) แทน

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินประเด็นเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้ธุรกิจในจีนต้องปรับตัวเพื่อระบายสินค้าและอุปทานส่วนเกิน ซึ่งจะเกิดผลกระทบ 3 ด้านหลักต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่

1.ภาคการผลิตไทยจะได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง

จากข้อมูลการนำเข้าในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การนำเข้าสินค้าจากจีน ทั้งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์ กำลังเข้ามาตีตลาดไทยอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งจากการทุ่มตลาดของจีนที่ทำให้สินค้าไทยแข่งด้านราคาได้ยาก ทำให้ไทยขาดดุลทางการค้ากับจีนในสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตในหมวดสินค้าเหล่านี้ที่มีแนวโน้มหดตัวค่อนข้างเร็วอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะในหมวดคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการผลิตเหล็ก ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยยังคงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับจีนเช่นนี้ต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การปิดโรงงานและการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้

KKP เตือน สินค้าจีนตีตลาด ปัญหาใหญ่ภาคการผลิตและส่งออกไทย 

2.มูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไทยจะลดลง

เมื่อสหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีนภายใต้การกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น หนึ่งในวิธีการปรับตัวของผู้ประกอบการจีน คือ การโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น เพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing) 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไทยอาจเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาเซลล์

จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะจำนวนแผงโซลาเซลล์ที่ไทยนำเข้าสะสมจากจีนตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา มีค่าใกล้เคียงมากกับจำนวนแผงโซล่าเซลล์ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ

ประเด็นนี้สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าในบางประเภทที่ถูก re-routing จากจีน อาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยน้อยมาก ซึ่งหากแนวโน้มเช่นนี้มีสัดส่วนที่มากขึ้นจะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้

KKP เตือน สินค้าจีนตีตลาด ปัญหาใหญ่ภาคการผลิตและส่งออกไทย 

3.จีนเข้ามาทำธุรกิจในอาเซียนโดยตรงมากขึ้น 

เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ นอกจากการระบายสินค้าส่วนเกินมาเพื่อทุ่มตลาดและเพื่อ re-routing ไปยังตลาดในประเทศเศรษฐกิจหลักแล้ว อีกหนึ่งกระแสที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือ การที่นักธุรกิจจีนโยกย้ายการลงทุนออกจากจีน เพื่อเข้ามาเจาะตลาดในประเทศอาเซียนโดยตรง จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่องและความต้องการในการกระจายสินทรัพย์ออกจากประเทศจีน

นอกจากจะเห็นการเข้ามาของธุรกิจจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในไทยอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังรวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่น ๆ ด้วย โดยในปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย ในแง่หนึ่ง การลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้นจากธุรกิจจีนที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนและจากช่องทางสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ