จี้ “เศรษฐา” เร่งปลุก ศก. 6 เดือนจีดีพีติดหล่ม สอบตกเงินดิจิทัล เด่นเซลส์แมน

15 มี.ค. 2567 | 03:50 น.

เอกชนวิพากษ์ 6 เดือนรัฐบาล “เศรษฐา” หอการค้าฯ ชมผลงานเด่น “เซลส์แมน” แก้ค่าครองชีพ ลดค่าไฟ น้ำมัน หนี้นอกระบบ ดึงท่องเที่ยว บิ๊กค้าปลีกชี้ล้มเหลวกระตุก ศก.ไม่ขึ้น กลุ่มฐานรากยังจน สินค้าจีนทะลักทุบ SMEs สอบตกเงินดิจิทัล TDRI เสียดายโอกาสดันจีดีพี รัฐติดปัญหาทางเทคนิค

วันที่ 11 กันยายน 2566 รัฐบาล “เศรษฐา” ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ประกาศมีหลายนโยบายเร่งด่วน ที่จะเร่งดำเนินการ ได้แก่ Digital Wallet 10,000 บาท, การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชน, การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน, การผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว, การแก้ไขความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านมา 6 เดือนผลงานรัฐบาลเข้าตามากน้อยเพียงใด สอบผ่านหรือสอบตก ภาคธุรกิจสะท้อนต่างมุมมอง

  • สอบผ่านลดค่าครองชีพ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เกือบ 6 เดือนของรัฐบาลที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการเข้ามาแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนของประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน การลดค่าไฟฟ้า ค่านํ้ามัน การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดึงนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ แม้รัฐบาลยังไม่มีงบประมาณประจำปี 2567 ในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ต้องชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ก่อน และลงมือทำทันที

 “แม้เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน จำเป็นต้องได้รับการพูดถึงและเริ่มหาแนวทางในการป้องกัน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้การที่ท่านนายกฯ เป็น Good Salesman ขยันขันแข็งลงพื้นที่เจรจากับประเทศต่าง ๆ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลทำงานเชิงรุกในลักษณะ Team Thailand Plus เพื่อขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามศักยภาพได้”

จี้ “เศรษฐา” เร่งปลุก ศก. 6 เดือนจีดีพีติดหล่ม สอบตกเงินดิจิทัล เด่นเซลส์แมน

  • ยกนิ้ววีซ่าฟรีฟื้นท่องเที่ยว

นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยกเว้นการตรวจลงตรา เพื่อการท่องเที่ยว (วีซ่าฟรี) สำหรับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย ไต้หวัน การขยายเวลาพำนักในไทยของนักท่องเที่ยวรัสเซีย เป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และเป็นนโยบายที่ดี ส่งผลดีต่อการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในตลาดเหล่านี้ ที่ตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ไทยตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 35 ล้านคน แม้จำนวนอาจจะยังไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ก็มีทิศทางบวกต่อเนื่อง แม้กรุ๊ปทัวร์ยังเข้ามาไม่มาก แต่มีแนวโน้มนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) หรือกลุ่มเล็ก ๆ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายในไทยสูงขึ้น

  • เร่งเมืองรอง-ดึงจัดอีเวนต์อินเตอร์

ส่วนนโยบายอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง อยากให้ผลักดันต่อ เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะเมืองหลัก รวมถึงอยากให้มีการดึงการจัดงานที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล อีเวนต์ เข้ามาจัดในไทยมากขึ้น ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะดึงมาได้ แต่อยากให้ดูเรื่องระบบบริหารจัดการภายในด้วย เพราะวันนี้เราเห็นชัดเจนถึงปัญหา อาทิ การจัดคอนเสิร์ตที่ราชมังคลากีฬาสถาน หลังงานเลิกคนออกมาพร้อมกัน ระบบขนส่งมวลชนไม่สะดวก ทำให้ต้องเสียค่ารถรับจ้างในราคาสูงมาก คนมาก็จะรู้สึกไม่ประทับใจ

ขณะที่ภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยในปีนี้จากที่จะได้รับอนิสงส์จากนโยบาย Ease of Traveling ทั้งมาตรการวีซ่าฟรีจีน อินเดีย การขยายเวลาพำนักในไทยของนักท่องเที่ยวรัสเซีย และการยกเลิกใบ ตม.6 ด่านทางบกของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จากข้อมูลของการทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วง ม.ค.- ก.พ. 2567 พบว่านักท่องเที่ยวมาเลเซียเติบโตกว่า 152% สูงกว่า ปี 2566 และ 2562 จากปัจจัยสนับสนุนการยกเว้นบัตร ตม.6 บริเวณด่านสะเดา

ส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียเติบโตถึง 121% จากมาตรการยกเว้นวีซ่า นักท่องเที่ยวรัสเซีย เติบโต 107% หลังขยายวีซ่าเป็น 90 วัน ส่วนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 63% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 มี.ค.67 ไทยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวแล้วกว่า 1.36 ล้านคน

  • ฐานรากยังจน-สินค้าจีนทุบตลาด SMEs

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มองว่ารัฐบาลล้มเหลวในการทำงานเพราะเศรษฐกิจไม่โต ประชาชนยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เช่น มาตรการ Easy E-Receipt เหมือนช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ให้มีเงินสะพัด แต่คนในระดับฐานรากที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ ส่วนใหญ่ยังยากจนขาดเงินหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน

เรื่องภาษีเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลต้องแก้ไข โดยเฉพาะการควบคุมสินค้าจากจีนเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่ผู้ประกอบการไทยกลับต้องเสียภาษีเต็มอัตรา ทำให้การหมุนเวียนสินค้าในตลาดไม่ดี ธุรกิจการค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่งได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการรายเล็กหายไปมากถึง 40% จากสภาพการแข่งขันในตลาดเปลี่ยน กระแสการซื้อขายออนไลน์มาแรงมาก โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าจากจีน

“ประชาชนผิดหวังกับรัฐบาล เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นเลย ทั้งยังดิ่งลงมากกว่าเดิม หลายอุตสาหกรรมเริ่มเสื่อมถอย แม้รัฐบาลจะพยายามเดินหน้าให้เศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจน แก้ปัญหาให้กับประชาชนไม่ได้ ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลก ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” นายสมชาย กล่าว

  • สอบตกเงินดิจิทัล 1 หมื่น

ขณะที่อีกนโยบายสำคัญเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลสอบตก คือ นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่เจอโรคเลื่อนมาหลายครั้ง จากไทม์ไลน์เดิมจะเริ่มใช้ได้ปลายปี 2566 เลื่อนเป็นไตรมาสแรกปี 2567 และเลื่อนเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก่อนจะเลื่อนอีกครั้งเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถผลักดันออกมาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะติดข้อจำกัดสารพัด โดยเฉพาะร่างกฎหมายการกู้เงินมาทำโครงการกว่า 5 แสนล้านบาท

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ประชุมได้ยื้อการขับเคลื่อนโครงการออกไปอย่างน้อย 1 เดือน โดย นายกฯ แถลงมติของที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลว่า ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด ให้ทางฝ่ายเลขานุการที่ประชุมรวบรวมข้อเท็จจริงตามข้อสังเกตต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) ถึงโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้สรุปมาภายใน 30 วัน คือภายในวันที่ 15 มี.ค.นี้

จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจะนัดประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลชุดใหญ่ที่มีนายกฯเป็นประธาน เพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นมีการประเมินว่าน่าจะมีการประชุมกันเร็วที่สุด ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เข้ามาอย่างพิจารณาเป็นทางการ หากไม่มีข้อติดขัด จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลยืนยันว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่และมีความพร้อมในเบื้องต้นแล้ว

  • TDRI ชี้เสียดายโอกาส

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินผลงานรัฐบาลรอบ 6 เดือน ว่า ในส่วนของมาตรการระยะสั้น น่าเสียดายที่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คือ การกระตุ้นระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ควรจะเป็น โดยปกติเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเฉลี่ยที่ 3.6% แต่ปรากฏในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ถึงระดับเฉลี่ย(โต 1.9%) และปีนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตไม่ถึงระดับโดยเฉลี่ย

ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลควรจะมีการกระตุ้นเฉพาะกิจ ยกตัวอย่าง รัฐบาลชุดก่อนจะมีโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น แต่เมื่อรัฐบาลนี้ไปเลือกใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ จึงประสบปัญหาเทคนิคต่าง ๆ และเจอข้อคัดค้านจากนักวิชาการ จึงไม่ได้เกิดการกระตุ้น จึงเสียโอกาสในด้านนี้ไป

“เราไม่ได้พูดว่าต้องการการกระตุ้นขนาดใหญ่ แต่ในระยะสั้นต้องการให้มีภาพการกระตุ้นบ้าง และกระตุ้นให้ตรงจุด ฉะนั้นภาพระยะสั้นจึงไม่ได้เป็นในแบบที่ประกาศนโยบายไว้ว่าจะทำทันที เครื่องมือไม่ได้เกิดขึ้น”

หากถามว่า มาตรการของรัฐบาลมีหรือไม่ ก็พอมีอยู่บ้าง โดยที่เห็นเด่น ๆ คือ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ อย่างไรก็ดีในแง่ผลลัพธ์ยังเห็นในระดับที่จำกัด ซึ่ง 6 เดือนยังมีลักษณะเพียงความพยายามที่จะจัดอีเวนต์ นายกฯ เอาผ้าขาวม้าเป็นผ้าพันคอที่ต่างประเทศ หากถามว่าได้ผลหรือไม่ ก็ได้ผลบ้าง แต่ยังไม่เห็นภาพที่สามารถกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจขนานใหญ่ได้ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในวงกว้างที่โฆษณาว่าจะเกิด 20 ล้านคน 20 ล้านครัวเรือน ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

“ส่วนตัวผมคิดว่าเวลา 6 เดือนของรัฐบาลก็สั้น แต่ถ้าพูดถึงพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน แต่ละคนไม่ใช่คนที่เริ่มต้นใหม่ ผมจึงคาดหวังว่าจะเห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านี้ เช่น ระยะสั้นควรมีมาตรการที่ถูกต้องออกมา และมาตรการระยะยาวก็ควรเห็นอะไรที่เป็นนํ้าเป็นเนื้อกว่านี้ และควรที่จะเริ่มเดินได้แล้ว อย่างน้อยไม่ควรจะเกิน 1 ปี ที่มีโครงการออกมาชัดเจน และประชาชนได้ประโยชน์ชัดเจน ตรงจุด ตรงประเด็น ควรจะเห็นได้แล้ว”

  • อสังหาฯมองสัญญาณบวก

ด้าน นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลงานรัฐบาล 6 เดือนส่งสัญญาณทางบวก โดยเฉพาะการเดินทางพบปะผู้นำ และนักลงทุนในประเทศต่าง ๆ เพื่อดึงการลงทุนเข้าไทย ซึ่งหลายประเทศให้การตอบรับ และกำลังขยายผลเป็นรูปธรรม ระยะยาวย่อมเป็นผลดีกับประเทศ

ที่เห็นชัดเจนคือมาตรการวีซ่าฟรีไทย-จีน ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศ ส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะที่ผ่านมา จีนครองอันดับหนึ่งเข้ามาใช้ชีวิตในไทย ทั้งการท่องเที่ยว รวมถึงการอยู่อาศัย การลงทุน จากการซื้อคอนโดมิเนียม อีกทั้งนโยบายยกระดับให้จังหวัดเมืองรองขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเทียบชั้นเมืองหลักทำให้มีเงินสะพัด สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น

สำหรับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล 8 ข้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ที่มีความชัดเจนคือการแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่ง มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะบังคับใช้มานานกว่า 5 ปีแล้ว ส่วนเรื่องบ้านบีโอไอ บ้านหลังแรก ดอกเบี้ยต่ำ สร้างบ้านบนที่ดินตนเอง ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ล้านละหมื่น สูงสุดไม่เกินล้านละแสน ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเป็นการถาวร

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3975 วันที่  17 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2567