“เศรษฐา” ถกรมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ จับตาหอบเงินลงทุน “เซมิคอนดักเตอร์”

14 มี.ค. 2567 | 03:26 น.

จับตา นายกฯ “เศรษฐา” หารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา เย็นวันนี้ (14 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมพาประธานสภาผู้ส่งออก หาช่องทางการค้า จับตาหอบเงินลงทุน “เซมิคอนดักเตอร์”

วันนี้ (14 มีนาคม 2567) เวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังจากเดินทางกลับจากการเยือนฝรั่งเศส และเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 7- 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ยังนำนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่อแสวงหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนด้วย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การเดินทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ มีประเด็นน่าสนใจต้องจับตา นั่นคือ การหารือร่วมกันกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหาช่องทางการผลักดันการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐใน 14 ประเทศสมาชิกความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการลงทุน

สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำหรือวัสดุที่มีคุณสมบัติกึ่งนำไฟฟ้า เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร รถยนต์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศความพร้อมของประเทศไทยว่า มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่น ๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก

โดยภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก และเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาเพื่อใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นโอกาสสำคัญสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศไทย 

จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังเผชิญกับภาวะความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทั้งจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่สะดุดลง ปัจจุบันความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 

ขณะที่โลกยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สะดุด จากปัญหาสงครามการค้าและลุกลามมาเป็นสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เป็นแรงกดดันให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานจะเริ่มคลี่คลายลงจากการกลับมาผลิตได้มากขึ้น 

แต่ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องจับตามองทิศทางและความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นอีกครั้งตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยังมีความเสี่ยงรุมเร้าอยู่อีกหลายด้าน ทำให้บางประเทศพิจารณาการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพการผลิตสูง

สำหรับยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ ที่ผ่านมาในปี 2564 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยเองจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า ปี 2564 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทยมีมูลค่า 28,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.1% แบ่งเป็น การส่งออก 11,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.4% และการนำเข้า 17,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.9%

ส่วนการค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แผงวงจรไฟฟ้า (IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยในปี 2564 ได้แก่ ฮ่องกง 24.1% รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ส่วนการนำเข้า ได้แก่ ไต้หวัน  26.7% รองลงมาคือ จีน และญี่ปุ่น 

โดยเซมิคอนดักเตอร์ยังมีความสำคัญต่อการส่งออกไทยทางอ้อม เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของไทยมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทยด้วย