“ตาก”จี้รัฐขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เทียบชั้น"เซินเจิ้น"

09 มี.ค. 2567 | 07:40 น.

“เทอดเกียรติ"ขอรัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก หลังเสียโอกาสนานถึง 20 ปี แนะใช้โมเดล"เมืองเซินเจิ้น"ประเทศจีน หวังเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน

จากกรณีที่ภาคเอกชน-ประชาชนทุกภาคส่วนของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  พยายามผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้า เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยเตรียมยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง  พร้อมมอบให้นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์  อดีตนายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก ,ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคเหนือตอนล่าง และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ และหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ตาก)  เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นั้น 

ล่าสุดนายเทอดเกียรติ  ชินสรนันท์  ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ตาก)   กล่าวถึงความพยายามในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปีแต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมว่า  แนวคิดในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด (ตาก) นั้น มีตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ตามด้วยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมาจนถึงยุค พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ผ่านมาถึง 3 รัฐบาล 

นายเทอดเกียรติ กล่าวอีกว่า แต่เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ปกติทำให้การขับเคลื่อนไม่ต่อเนื่อง ทั้งที่ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมานานกว่า 20 ปี  กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยที่ล้มเหลว ทั้งที่ไปดูงานมาหลายประเทศ รวมทั้งเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน  ซึ่งจากการดูงานเห็นว่าเขตเศรษฐกิจที่เป็นรูปแบบชัดเจน จับต้องได้ และประสบความสำเร็จคือเขตเศรษฐกิจพิเศษ “เซินเจิ้น” มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน  

“ตาก”จี้รัฐขับเคลื่อน เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด  เทียบชั้น"เซินเจิ้น"

สำหรับรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ “เซินเจิ้น”  รัฐบาลจีนได้กระจายอำนาจ มีคณะกรรมการใหญ่เป็นลักษณะไตรภาคี มาจากทุกภาคส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภายใต้กฎหมายที่ออกมาเป็นพระราชกำหนด  เช่น จากส่วนราชการมาจาก 21 กรม คือ กระทรวง ทบวง กรม ที่มีอำนาจเต็ม ทำให้เกิดรายได้จากการบริหารในพื้นที่ เช่น ค่าธรรมเนียมจากแรงงานต่างด้าว ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ภาษีรถยนต์ น้ำมัน หรือ ธุรกรรมต่างๆ สามารถแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาลตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และกำหนดไว้

 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น ของรัฐบาลจีน มีความเจริญก้าวหน้ามากจนถึงขณะนี้ก่อตั้งมานานร่วม 30 ปี จากเดิมเมืองเซินเจิ้น มีประชากร 30,000 คน พื้นที่ติดทะเล มูลค่าการซื้อขายไม่กี่ล้านหยวน ปัจจุบันมีประชากรกว่า 12 ล้านคน มูลค่าการซื้อขายในปัจจุบัน อยู่ประมาณกว่า 2 แสนล้านหยวน

ส่วนการบริการเขตพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จะแยกเป็นจังหวัด พร้อมโครงสร้างบุคลากรที่มีอำนาจ โดยยึดหลักสภาพพื้นที่แต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกันด้านศักยภาพ ความแตกต่าง จุดแข็ง จุดอ่อน และบริบทในพื้นที่ต่างกัน 

"ผมมีความเห็นด้วยกับรัฐบาลจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ แต่การบริหารด้านบุคลากร ต้องแยกออกจากกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันด้านสภาพพื้นที่ และศักยภาพ เช่น ที่แม่สอดมีการค้าชายแดนที่มีความละเอียดอ่อน มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดของประเทศไทย มากถึงปีละ 1 แสนล้านบาท หรือ พื้นที่จังหวัดใด มีศักยภาพ มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไรก็สามารถบริหารได้ของพื้นที่นั้นๆ

ส่วนปัญหาความล่าช้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตากนั้น นักธุรกิจ นักลงทุน  สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ และต่างพื้นที่จากหลายวงการต้องการให้เกิดขึ้น เพราะความล่าช้าทำให้พื้นที่เสียโอกาสหลายๆด้าน"อดีตนายกเทศมนตรีนครแม่สอด กล่าว