“พิมพ์ภัทรา” สั่ง กนอ. เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม-แล้งเน้นพิ้นที่ "EEC"

04 ต.ค. 2566 | 05:21 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 05:21 น.

“พิมพ์ภัทรา” สั่ง กนอ. เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม-แล้งเน้นพิ้นที่ "EEC" หลังคาดการณ์ว่าอาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ด้านผู้ว่าวีริศ มั่นใจทุกนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการสถานการณ์ได้ตามแผน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์น้ำท่วม – น้ำแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้ประชุมติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ 

โดยให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ต้องไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ในการกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะหากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมหรือสถานการณ์ภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้นักลงทุนเกิดความลังเลจนทำให้การลงทุนหยุดชะงักได้

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมมาตรการป้องกันทั้ง 2 สถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่ปัจจุบันส่งผลกระทบไปแล้วหลายจังหวัด อาทิ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี 

รวมทั้งขอให้กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

“พิมพ์ภัทรา” สั่ง กนอ. เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม-แล้งเน้นพิ้นที่ EEC

ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำและติดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ หากเกิดน้ำทะเลหนุนร่วมกับปริมาณฝนในพื้นที่มาก ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบายน้ำได้ช้า รวมทั้งยังอยู่ใกล้กับชุมชนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อีอีซีนั้น ได้รับรายงานว่า กนอ.มีมาตรการเตรียมรับมือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. พร้อมดำเนินการตามนโยบายทันที โดยความกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ยังมีความเสี่ยงยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่งมีเขื่อนกั้นน้ำและระบบสูบน้ำที่ดี มีการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงระบบระบายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่ง เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก และไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ 

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกนิคมฯ เข้าช่วยเหลือชุมชนในการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช เตรียมเครื่องสูบน้ำ และประสานงานกับหน่วยงานในท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่คาดการณ์ว่าจะสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จในปี 2567 นั้น ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากมีฝนตกหนัก เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบายน้ำไม่ทัน 

ขณะนี้ได้สั่งการทุกนิคมอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด ได้แก่ 

  • ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 
  • คาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 
  • ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 
  • พร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ 
  • ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอก ทั้งแบบใช้น้ำมันและแบบใช้ไฟฟ้า เข้ามาสนับสนุนทันทีที่มีการร้องขอ 
  • สื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดอย่างต่อเนื่อง 
  • 7.กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ 
  • 8.กรณีที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดอุทกภัย ให้รีบรายงานผู้ว่าการ กนอ. และผู้บริหาร กนอ. ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ

“มั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดของ กนอ. จะรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯ ทุกแห่ง รวมทั้งชุมชนโดยรอบได้"

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ กนอ. ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ล่าสุดนั้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดระยอง 3 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ปริมาณน้ำยังมีเพียงพอ ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมามีฝนตกบ่อยครั้ง ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม กนอ. ยังจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวางแผนรับมือภัยแล้งในพื้นที่อีอีซีไว้แล้ว