สร้างแทรม 4 สาย 7.1 หมื่นล้าน ส่อสะดุดรัฐบาลใหม่

11 ส.ค. 2566 | 07:35 น.

เปิดแผนคืบหน้าสร้าง "รถไฟฟ้าแทรม" 4 สาย วงเงิน 7.1 หมื่นล้านบาท ลุ้นชงรัฐบาลใหม่ไฟเขียว หลังคมนาคมสั่งปรับรูปแบบการก่อสร้าง ลดต้นทุนโครงการ

ที่ผ่านมา “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เร่งผลักดันโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค (แทรม) แต่ปัจจุบันพบว่ายังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากติดปัญหาในอุปสรรคในหลายเรื่อง ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง รูปแบบรถที่ให้บริการไม่สอดรับกับพื้นที่ที่จะให้บริการ รวมทั้งการเวนคืนที่ดินที่อาจจะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

 

 ถึงแม้ว่ารฟม.จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคประชาชนและเอกชนหลายครั้ง แต่ขณะนี้กลับยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้รฟม.ไปศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่หน้าจับตาว่าโครงการรถไฟฟ้าแทรมในภูมิภาคจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไร

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากแผนเดิม รฟม.มีแนวคิดศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค (แทรม) ทั้ง 4 จังหวัด ประกอบด้วย 1.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี โดยใช้รูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) 2.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ โดยใช้รูปแบบระบบรถรางไฟฟ้าแบบล้อยาง (Rubber-Tyred Tram)

 

3. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง โดยใช้รูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) 4.โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซ่า โดยเป็นระบบขนส่งรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram)

ในปัจจุบันทั้ง 3 โครงการ “รฟม.” ได้มีการทบทวนการเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม พบว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กิโล เมตร (กม.) วงเงินลงทุน 25,736 ล้านบาท จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) เบื้องต้นรฟม.จะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566-มิถุนายน 2567 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาภายในเดือนมิถุนายน 2567 โดยจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567-สิงหาคม 2568 ระหว่างนี้จะสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ด้วย และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2571

 

 ด้านโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 7,218 ล้านบาท จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ (E-BRT) ทั้งนี้รฟม.จะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566-มิถุนายน 2567 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาภายในเดือนมิถุนายน 2567 โดยจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567-สิงหาคม 2568 หลังจากนั้นจะสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ด้วย และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2568 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2571

 

 ขณะที่โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 35,344 ล้านบาท จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นระบบรถไฟฟ้า ART (Automated Rapid Transit) ขณะนี้รฟม.จะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566-เมษายน 2567 ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือนตุลาคม 2567-มิถุนายน 2568 ควบคู่กับการสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนพฤษภาคม 2568 และดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกรกฎาคม 2568 พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2570

สร้างแทรม 4 สาย 7.1 หมื่นล้าน ส่อสะดุดรัฐบาลใหม่

 ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลเซ็นทรัลพลาซ่า ระยะทาง 12.6 กม. จำนวน 15 สถานี วงเงินลงทุน 3,440 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่ได้มีการศึกษาทบทวนรูปแบบของโครงการฯ

 

ทั้งนี้ตามแผนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถภายในเดือนมีนาคม 2568-มีนาคม 2569 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบภายในเดือนมีนาคม 2569 และเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ภายในเดือนตุลาคม 2569-ตุลาคม 2570 โดยระหว่างนี้จะดำเนินการสำรวจพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนที่ดินภายในเดือนเมษายน 2570-พฤษภาคม 2573 และดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2570 พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2574

 

หลังจากนี้คงต้องจับตาว่ารถไฟฟ้าแทรมทั้ง 4 โครงการของรฟม.จะเป็นเพียงโครงการที่ขายฝันให้ชาวบ้านในต่างจังหวัดต้องรอเก้อหรือไม่ และรัฐบาลใหม่จะสามารถเดินหน้า “โครงการรถไฟฟ้าแทรมในภูมิภาค” ต่อไปอย่างไร