หลักคิด บริหารการเงิน ลดความเสี่ยงการลงทุน

26 มี.ค. 2565 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2565 | 12:19 น.

“นักลงทุน” กับ “ความเสี่ยง” เป็นของคู่กัน แต่เสี่ยงอย่างไรให้คุ้มค่าและไปถึงเป้าหมาย ในขณะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน และเปราะบาง “การวางแผนการเงิน” จึงเป็นเรื่องสำคัญอยางยิ่ง

“จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์” นักวางแผนการเงิน CFP® Senior Financial Consultant เจ้าของบริษัท Money Adwise (Wealth Management) ผู้บริหารการเงินการลงทุน เปิดเผยว่า การบริหารการเงิน ต้องเริ่มตั้งแต่การบริหารการใช้เงินในชีวิตประจำวัน ตัดสินใจเรื่องเงิน บริหารเงินเดือน งบสำหรับชุดทำงาน อุปกรณ์ทำงาน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ซื้อของได้แค่ไหน ไปเที่ยวใช้งบเท่าไหร่ แล้วเหลือเงินเก็บไหม แล้วเงินเก็บตรงนี้เพียงพอไหมสำหรับอนาคต แล้วถ้าจะเปลี่ยนงาน จะซื้อรถ จะซื้อบ้าน จะแต่งงาน จะมีลูก จะมีสัตว์เลี้ยง จะเปิดธุรกิจ จะเกษียณ ฯลฯ ถ้าไม่วางแผนให้ดี ปล่อยไปเรื่อยๆ อาจจะมีเงินไม่พอเวลามีปัญหา หรือไม่ก็เงินไม่พอตอนเกษียณ

 

ความผิดพลาดของการวางแผนการเงิน มีให้เห็นต่อเนื่อง ทั้งการตัดสินใจพลาด โดนหลอก เจอวิกฤต เกษียณไม่ได้ เลือกเครื่องมือทางการเงินไม่เหมาะแล้วมีปัญหา เช่น ต้องการใช้เงินในระยะ 1-2 ปี แต่ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง 100% ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเกินสิทธิ เลือกประกันผิดประเภท

บริษัทฯ ได้นำบริการ One-stop holistic planning การให้คำปรึกษาครอบคลุมทุกช่วงวัยของชีวิต เนื่องจากแต่ก่อนจะมีปัญหาปรึกษาเรื่องการลงทุนกับสถาบันการเงินแห่งนี้แล้ว วันหนึ่งคนนั้นย้ายออกไป กลายเป็นต้องมานั่งอธิบายใหม่ ขณะมีบางอย่างที่ไม่สามารถมองหรือทำความเข้าใจได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้นักลงทุนสูญเสียโอกาสไป ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตเลยก็ได้

 

ยกตัวอย่าง ครอบครัวหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินของทุกคน ซึ่งมีช่วงวัยต่างกัน แผนทางการเงินของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ดูแลทั้งเรื่องการลงทุน และการเตรียมส่งต่อทรัพย์สิน รวมถึงการทำทะเบียนทรัพย์สิน พูดคุยถึงการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินให้ลูกหลาน ทำให้เงินงอกเงย และยังช่วยร่างพินัยกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องทำไว้ให้ชัดเจน เผื่อวันหนึ่งที่ต้องใช้ ทุกอย่างจะได้เป็นไปตามที่ตั้งใจและได้วางแผนไว้เป็นอย่างดี สำหรับลูกทั้ง 2 คน เราดูแลตั้งแต่ทั้งคู่ยังโสด จนแต่งงาน จนตอนนี้คนหนึ่งมีลูกแล้ว แผนการเงินองค์รวมที่ทำไว้ให้ ช่วยให้เห็นว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร และแต่ละด้านขาดเหลืออะไรบ้าง และเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยเลือกให้ก็มีหลากหลาย และยืดหยุ่นได้

พอเปลี่ยนสถานะจากโสดมามีครอบครัว ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน เกี่ยวกับครอบครัวเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตหลายอย่างเปลี่ยนไป แผนการเงินก็ต้องปรับตามไปด้วย ลูกอีกคนของคุณหมอเมื่อแต่งงานแล้วก็รีบนัดพูดคุยเพิ่มเติมว่าจะวางแผนการเงินอย่างไร โดยนำภรรยามาคุยพร้อมๆ กันเลย แบบนี้คือตัวอย่างที่ดีมากๆ

 

เมื่อทั้งคู่วางแผนการเงินร่วมกัน เห็นภาพเดียวกัน เข้าใจกัน ก็ช่วยกันเก็บเงินลงทุนตามเป้าหมาย แล้วก็ลดปัญหาการทะเลาะกันเรื่องเงินในครอบครัว สองคนนี้เราช่วยดูแลและให้คำแนะนำการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามที่วางแผนไว้อย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่า ครอบครัวจะประสบความสำเร็จด้านการเงินได้ เมื่อคนในครอบครัวมองเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการ วางแผน และสื่อสารกันให้ดีในครอบครัว

 

  • ข้อแนะนำเทรนด์การเลือกการลงทุนสำหรับคนรุ่นใหม่

สำหรับแผนเกษียณ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ไม่ต้องกังวลว่าเริ่มช้าไป และไม่มีคำว่าเร็วเกินไป เริ่มจากการคำนวณเบื้องต้นว่า ต้องใช้งบหลังเกษียณเท่าไหร่ แล้วจากวันนี้จนถึงเกษียณ น่าจะมีเงินสำหรับเกษียณจากแหล่งไหนบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่

 

ถ้าไม่พอ จะต้องเก็บเพิ่มเท่าไหร่ ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง และอย่าลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เป็นค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุเยอะขึ้น แล้วไม่ได้เป็นแค่ค่ารักษาในโรงพยาบาลอย่างเดียว ยังต้องเตรียมงบสำหรับ ค่ายา ค่าวิตามินอาหารเสริม ค่าคนดูแล ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ ค่าปรับต่อเติมที่อยู่อาศัย ควรวางแผนการออมและลงทุนไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอ ประกันสุขภาพสามารถช่วยป้องกัน และแบ่งเบาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่อาจจะต้องใช้หลังเกษียณ

 

ปัญหาเกี่ยวกับประกันสุขภาพที่พบบ่อย เช่น ซื้อประกันผิดประเภท เลือกแบบประกันที่ความคุ้มครองไม่ครอบคลุม ซื้อประกันช้าเกินไปทำให้ซื้อไม่ได้เนื่องจากประเด็นทางสุขภาพ ไม่ได้วางแผนสำหรับงบที่จะมาจ่ายเบี้ยประกันช่วงหลังเกษียณที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่สูงขึ้น ทั้งนี้การกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ และควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนในสินค้าหรือโครงการใด ๆ ก็ตาม

  • การลงทุน Cryptocurrency

Cryptocurrency ถือเป็น Asset class ใหม่ ที่มีข้อมูลให้ศึกษาย้อนหลังไม่ได้ยาวนักเทียบกับ Asset class อื่นๆ ถึงแม้จะน่าสนใจ และเป็นโอกาสในการลงทุน แต่ก็ควรศึกษาหาข้อมูลเยอะๆ อย่าเชื่อเพียงแค่คนรู้จักลงทุนแล้วก็ลงทุนตามๆกัน การเข้าไปอ่าน Whitepaper และทำความเข้าใจ tokenomics ของเหรียญนั้น ๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

 

การทำ Asset Allocation เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนการลงทุน ควรจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ระยะเวลา และระดับความเสี่ยงที่รับได้และเหมาะสมกับเป้าหมายนั้น ๆ ถึงแม้คนรุ่นใหม่อายุยังน้อย แต่สำหรับเงินที่ต้องใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ และรับความเสี่ยงสูงไม่ได้ ก็ไม่ควรลงทุนในคริปโต เนื่องจากมีความผันผวนสูง แต่สำหรับแผนการลงทุนระยะยาวที่รับความเสี่ยงสูงได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องลงทุนในคริปโต 100% สินทรัพย์ และเครื่องมือทางการเงินแต่ละประเภทมีจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกัน ควรเลือกให้เหมาะสม และกระจายความเสี่ยงให้ดี

 

จากที่เห็นในข่าวช่วงที่ราคาคริปโตตกลงมามาก บางคนไม่มีเงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ต้องไปกู้ยืมหรือเป็นภาระคนอื่น จึงต้องเน้นย้ำว่าแผนการเงินไม่ได้มีแค่เรื่องการลงทุนอย่างเดียว การบริหารรายรับรายจ่าย เตรียมสภาพคล่องฉุกเฉิน บริหารหนี้สิน จัดการเรื่องป้องกันความเสี่ยงด้านชีวิต และสุขภาพ เรื่องเกษียณ และเรื่องภาษี ก็สำคัญเกี่ยวข้องกัน