เงินดิจิทัล : รักแล้ว รอหน่อย

13 เม.ย. 2567 | 00:19 น.

ก็มาถึงสักที ที่ท่านนายกรัฐมนตรีพร้อมกับทีมงานทั้งทางการเมืองและข้าราชการประจำ ออกมาอธิบายถึงรายละเอียด (อีกครั้ง) ของนโยบายเรือธงของรัฐบาล คือการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคนนั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีรายละเอียดมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

แต่อาจจะไม่ 100% เพราะเท่าที่ฟังดู แม้ว่าจะเห็นเงื่อนไขของผู้รับสิทธิ์ แหล่งที่มาของเงิน และรูปแบบแนวทางปฏิบัติ แต่ที่มาของแหล่งเงินนั้น ฟังดูแล้วทะแม่ง ๆ ชอบกล รัฐบาลบอกว่าไม่ได้กู้ แต่ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จ่ายก่อน แล้วจะตั้งงบประมาณคืนให้ภายหลัง  ซึ่งผมว่าคงถกกันในทางกฎหมายสนุกต่อไป

ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัตินั้น แม้จะเห็นภาพมากขึ้น แต่พอลงรายละเอียดแล้ว ผมว่ายังมีประเด็นให้คุยกันอีกพอสมควรครับ  เดี๋ยวคงต้องรอฟังประกาศจากทางรัฐบาลต่อ โดยเฉพาะของกระทรวงพาณิชย์ที่จะเป็นเจ้าภาพในการจดทะเบียนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

และผู้คนอีก 50 ล้านคน ที่จะได้รับเงิน ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลประกาศ คือมีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท อายุเกิน 16 ปี รอให้ถึงเวลานั้นดูสิครับว่าจะมีสักเท่าไหร่ เงินจะไหลผ่านแอพพิเคชั่นใหม่แบบไหน อย่างไร แต่ผมขออนุญาตวิพากษ์ เพราะรายละเอียด

ที่ประกาศยังบอกให้รอ ดังนั้น ผมขอมองภาพที่ยังมีประเด็นที่ต้องขบคิดอีกหน่อย ดังนี้

  • แหล่งที่มาของงบประมาณ ในโครงการนี้ก็มาจากงบประมาณแผ่นดินจริงๆ เพียงแต่ว่าหาทางออกทางกฎหมาย และบางส่วนที่ใช้งบประมาณของ ธ.ก.ส. หากตีความก็เหมือนกับรัฐบาลขอให้ออกให้ก่อน แล้วใช้หนี้คืนทีหลัง แบบนี้จะถือว่าเป็นการกู้หนี้หรือไม่ ก็เป็นประเด็นทางกฎหมาย อำนาจและหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ทำได้หรือไม่ ในการกู้เงินเพื่อจ่ายให้กับประชาชนที่เป็นเกษตรกร เพื่อทำอะไรก็ได้ที่อาจไม่ใช่เพื่อการเกษตรกรรม เรื่องนี้ต้องวัดใจบอร์ด ธ.ก.ส. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน (ผมว่าใครคงปรับ ครม. หนีก่อน) 
     
  • การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงบประมาณปี 2567 ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาทั้งสองสภาแล้ว และทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อรอลงพระปรมาภิไทยนั้น รัฐบาลสามารถทำได้ตามกฎหมายหรือไม่
  • เงื่อนไขที่ให้ร้านค้าสามารถเบิกเงินได้ในการหมุนไปแล้ว 2 รอบ สิ่งที่ผมคิดว่าร้านที่ขายวัสดุหรือวัตถุดิบจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะการหมุนรอบแรกเป็นการที่ประชาชนไปซื้อของจากร้านค้าย่อย และรอบสองของเงินคือร้านค้าย่อยไปซื้อวัตถุดิบต่อ คิดง่าย ๆ ถ้าร้านค้าเล็กรายแรก ได้รับเงินดิจิตอล 100 บาท แต่ไปซื้อวัตถุดิบ 70 บาท ร้านค้าที่สองสามารถเบิกเป็นเงินได้ตามนั้น คือ 70 บาท แต่ที่ผมสงสัยคือร้านค้าแรกที่ยังมีส่วนที่เหลืออีก 30 บาท สามารถถอนเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้หรือไม่ เช่น เติมน้ำมันรถ จ่ายค่าเทอมลูก และธุรกรรมอื่น ๆ ที่เป็นข้อห้ามในโครงการนี้
  • ผมเห็นด้วยที่กำหนดไม่ให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิ์ถอนเงินรอบแรกนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตเหมือนที่เคยเจอในโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมา และมองภาพรวมแล้ว ก็มีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าใช่ ก็คือ การทำให้เงินอยู่ในระบบมากและนานที่สุด เพื่อส่งผลต่อไปใน supply chain โดยต้องไปซื้อวัตถุดิบต่อถึงจะเบิกได้ อย่างน้อยเงินก็หมุน 2 รอบ ซึ่งจะทำให้ตัวคูณนโยบายสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้รั่วไหลจากระบบในประเทศ โดยการห้ามซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะจะทำให้เกิดตัวถ่วงจากการมีสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศอยู่ในระบบมาก ตัวนี้ คือ Marginal Propensity to Import ที่จะทำให้ตัวคูณนโยบายต่อ GDP ของประเทศลดลง 
     
  • รัฐบาลอาจต้องดูเรื่องจำนวนร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้จะต้องอยู่ในระบบภาษี ซึ่งก็คงจะเจอปัญหาเดียวกันกับกรณีของโครงการเติมเงินต่างๆ ของรัฐในอดีตที่ผ่านมา หากมองในหลักการ ผมชอบ เพราะจะทำให้ร้านค้าอยู่ในระบบภาษีให้มากขึ้นถือว่าแฟร์ แต่ในทางปฏิบัติผมว่าร้านค้าคงพยายามโดดหนีจากระบบ โดยเฉพาะร้านค้าเล็ก ๆ ของชาวบ้าน กลัวจะหันเข้าไปในร้านสะดวกซื้อเป็นส่วนมาก
  • ร้านค้าที่อนุญาตให้เข้าร่วมโครงการนั้น แม้จะให้เป็นร้านขนาดเล็กในชุมชน แต่ก็รวมทั้งร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น และอื่นๆ แม้ว่า ร้านเหล่านี้จะไม่สามารถเบิกเงินออกจากระบบได้แต่ร้านค้าเหล่านี้ก็สามารถไปซื้อของในร้านค้าที่เป็นโมเดิร์นเทรดในเครือข่ายของตนต่อได้ ซึ่งตรงจุดนี้ผมไม่แน่ใจว่าโมเดิร์นเทรด ซึ่งอยู่ในรอบที่ 2 นั้นสามารถเบิกได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ผมว่ายุ่ง เพราะร้านค้าขนาดเล็กส่วนใหญ่เวลาซื้อของหรือซื้อวัตถุดิบต่างๆ มักจะไปร้าน Modern Trade ที่มีของครบและมีราคาที่ค่อนข้างถูก แต่ถ้าทำได้ รอตอบคำถามทางการเมืองที่พวกท่านเคยด่ารัฐบาลก่อนในเรื่อง “เอื้อนายทุน” ได้เลย

เรื่องนี้ สรุปแล้วง่าย ๆ งานนี้มีความหวังมากขึ้น เกือบชัวร์ ที่จะได้เงิน 10,000 บาทต่อคน แน่ ๆ แต่ต้องรอต่อไปอีกนิด เหมือนที่เลื่อนมาหลายครั้งละครับ เที่ยวสงกรานต์ให้สบายใจทั้งคนแจกและคนรับแจก  

ผมว่ารอดูรายละเอียดต่อจากหน่วยงานต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็บริหารความรู้สึก บรรดาแฟน ๆ ที่เชียร์โครงการแจกเงินนี้ โดยออกข่าวที่ละนิด ที่ละหน่อย รักษาความหวัง ดูทีท่าอารมณ์ของแฟน และก็หาแพะรับบาปแทน พร้อม ๆ กับหากระไดลงไปเรื่อย ๆ นี่ก็ปาเข้าไป 8 เดือนแล้ว ก็ยังรอต่อไป แต่มีความหวังมากขึ้น กลยุทธ์นี้นักการเมืองมือใหม่ต้องเรียนรู้ เดี๋ยวพอรายละเอียดออกมาจนครบคงได้เห็นภาพชัดว่าตัวคูณนโยบายน่าจะเป็นอย่างที่รัฐบาลว่าไว้ที่ 3.3 หรือไม่ 

อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบรัฐมนตรีจุลพันธ์ ที่ท่านตอบคำถามเกี่ยวกับ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ที่มีคนถามท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านเศรษฐาก็ทำหน้างงๆ แล้วก็หันไปที่ท่านจุลพันธ์ ซึ่งท่านก็ตอบว่า ท่านได้ตั้งงบประมาณเพิ่มในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในปีนี้แล้ว และจะเพิ่มขึ้นทุกปีตลอดที่เป็นรัฐบาล แต่ผมเข้าใจว่าที่นักข่าวเค้าถามนั้น ต้องการถามว่าที่ท่านนายกฯ ต้องการตั้งงบประมาณ 100,000 ล้านบาทนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและผู้ประกอบการไทยทั่วไป เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถ หรือ productivity มากขึ้นนั้น ยังมีงบที่แสนล้านหรือไม่ หรือเลิกแล้ว หรือนำมาใช้แจกแทน เพราะชอบพูดว่าหมื่นบาทนี้นำไปลงทุนได้ซื้อวัตถุดิบได้

แต่ที่ท่านจุลพันธ์ฯ พูดถึงนั้น คืออีกกองทุนหนึ่งที่ตั้งขึ้นในสมัย คสช. เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เรียกว่า กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่อยู่ในการดูแลของ BOI ซึ่งส่วนใหญ่ทุกวันนี้ คนที่ได้ไปก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ

และมีงบประมาณในปี 2567 นี้เพียง 15,000 ล้านบาทครับ จากเดิม 10,000 ล้านบาท เรื่องนี้ ผมว่าท่านตอบถูกเป๊ะ แต่เป็นคนละเรื่องและวัตถุประสงค์ที่คนถามมาครับ และผมก็ไม่รู้ว่าท่านนายกฯ ว่าไง เพราะท่านก็ยิ้มเป็นสุข และกล่าวขอบคุณ แต่ถ้าผมเป็นผู้ประกอบการไทย ผมไม่โอเค

ผมก็ยังยืนยันว่าเจตนารมณ์ของท่านนายกรัฐมนตรี ที่จะตั้งกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ให้กับผู้ประกอบการไทยในภาพรวมนั้น ผมว่าดีมาก และสนับสนุนเต็มเยียด เพราะถ้าหากศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราไม่ดีแล้วต่อให้ยัดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเท่าไร การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ไม่เกินกับศักยภาพที่เรามีอยู่ เราน่าจะเลิกคิดว่าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพได้แล้ว

ไม่เช่นนั้นเราก็จบลงที่การอัดนโยบายแบบนี้ไม่สิ้นสุด แต่ลองคิดดูใหม่ว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจเราต่ำ เลยขยายตัวได้ต่ำ บางทีอาจทำให้เราเลือกใช้นโยบายอย่างชาญฉลาดมากขึ้น (ถ้าไม่นับนโยบายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง)

ผมยังยืนยันแนวคิดของท่านนายกรัฐมนตรีถูกต้องและจำเป็นต้องรีบพัฒนา productivity ของประเทศ เพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนจริง ๆ บนพื้นฐานศักยภาพที่เข้มแข็ง