ลอยอังคาร กับงานศิลปะ Mon Coeur de Strasbourg

06 เม.ย. 2567 | 04:19 น.

ลอยอังคาร กับงานศิลปะ Mon Coeur de Strasbourg คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ยามเมื่อคนคนหนึ่งถอดวิญญาณทิ้งร่างตายจากไป ตามประเพณีไทยๆ ก็นิยมจะชำระร่างที่ถูกทิ้งไว้นั้นให้สะอาดบริสุทธิเสียด้วยไฟพระอัคคี อย่างที่เขาเรียกกันว่าเอาไปเผานั่นเอง ซึ่งผลลัพธ์แห่งการเผาไหม้นั้น มันจะได้กระดูกของท่านผู้ตายออกมาส่วนหนึ่งเรียกกันว่าอัฐิ อีกส่วนหนึ่งเปนฝุ่นเถ้าเศษเชื้อฟืนไฟอะไรบ้างต่างๆนานา ส่วนนี้เขาเรียกกันว่าอังคาร หรือ เถ้าอังคาร
 
ทางไทยคดีฝ่ายพุทธอีกนั่นเอง ประสกทั้งหลายนิยมเก็บอัฐิไว้ เอาใส่โกฐ ใส่อะไรๆอย่างสถูปเจดีย์ หรือที่ทางใต้เรียกบัว ทางเหนือเรียกกู่ ยามเมื่อมีจังหวะทำบุญ ทำบังสุกุล ต่างๆ ก็ทำกันโดยยกโกฐบรรจุอัฐิไปวัด หรือไม่ก็นิมนต์พระมาทำให้ที่กู่ที่สถูป แล้วแต่ว่าอะไรเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่ากัน

มาบัดนี้ถึงเวลาตัวเองบ้าง ตรงกับคำฝรั่งปนไทยว่า ‘It comes closer to us แล้ว’ ด้วยว่าท่านบิดาได้แสดงข้อธรรมะครั้งสุดท้ายในการมรณะสังขาร ทำให้ต้องรฤกถึงมรณานุสติตามพระสัทธรรมพุทธพจน์ขึ้นมา ว่าสังขารไม่เที่ยงต้องเตรียมตนเตรียมใจ ครานี้เสร็จการศพท่านแล้วก็ถึงเวลาลอยอังคาร ระหว่างรอพิธีการทางเรือทหาร ก็ให้นึกขึ้นได้ว่า ในชีวิตคนๆหนึ่งมีบทบาทหลายแง่หลายมุม มุมหนึ่งในทางชีวิตส่วนตัว ท่านผู้ตายเปนนักเดินทาง ท่านสนุกสุขใจนักในการท่องไปยังดินแดนต่างๆโดยสมถะติดดิน ท่านเกิดมีความกว้างขวางในวงการต่างๆก็จากการเดินทางอย่างน้ำใสใจจริงเช่นนี้
 
จึงได้จังหวะว่าการอังคารมีปริมาณมาก ควรได้แบ่งมาลอยเปนรอบๆ ตามแบบแผนชีวิตที่หลากหลายรูปแบบของท่านคงเปนการดี


 

การลอยอังคารครั้งที่ 1 นี้ ทิ้งระยะจากงานการศพพอสมควรถึงครึ่งปี จึงต้องทำการ resume/ recap ย้อนบุญกิริยา จัดเตรียมเครื่องทำสามหาบ กล่าวคือ ปกติเมื่อเขาเผากันแล้วที่เชิงตะกอน วันรุ่งขึ้นเก็บอัฐิ เขาต้องมีพิธีเดินสามหาบ หาบหนึ่งเปนของสดคาวหาว หาบสองเปนของแห้ง หาบสามเปนเครื่องหุงต้มก่อไฟ รวบเปนสังฆทานใหญ่ถวายพระ แล้วจึงแปรอัฐิไปทำพิธีลอยอังคารได้ไปหาเตรียม พระพุทธรูปทองเหลืองแท้ประจำวันเกิด ไตรเต็มพระราชนิยม ดอกไม้ธูปเทียน เปนประธานสามหาบ ซึ่งหาบแรกมีปิ่นโตเคลือบสี่ชั้น ข้าวสุกหอมมะลิ แพนงหมู จับฉ่าย กระเพาะปลา ลาบหมู ไก่ย่าง ของหวานเปนมันเชื่อม ขนมชั้น กาแฟ น้ำสิงห์ ช้อนส้อม แอปเปิ้ลนอก ลูกมะตูม ขนมสาหร่าย หมากสุก 12 ผล
 
หาบสองมี หอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา พริกแห้ง ข้าวคั่ว เกลือทะเล น้ำตาลมะพร้าว ข้าวสารขาว ข้าวสารดำ น้ำมันพืช มะขามเปียก น้ำปลาดีหาบสามมี เตาไฟ หม้อหู หม้อหาง กาต้มน้ำ ช้อนส้อม กระบอกน้ำ เสื้อขาวใหม่
 
แล้วจึงออกเดินทางไปวัดชุมแสง วังจันทร์ เมืองระยองแต่เช้ามืด หมายใจว่าท่านเครื่องส่งกำลังสูง คือพระครูวรวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอ จะส่งสการสื่อสารกุศลถึงดวงวิญญาณท่านบิดาได้ฝนตกหนักหน้าร้อนถึงวัดแล้วยังตกจั้กๆ
 
พระครูวรวงศ์ฯนั่งอยู่ตรงชานกุฎีนั้นแต่เหมือนกำบังมองไม่เห็น มีอุปสรรคนิดนึงต่างหาก ท่านรับประเคน นำสวด บังสุกุลให้กระดูก และให้กรวดน้ำท่านแนะว่าเวลาอุ้มพระให้กาดระลึกถึงบรรพชน ท่านจะได้โมทนามาช่วยเหลือเปนกำลัง จึงกาดระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับทั้งหลาย
นำน้ำไปหยาดลงกลางแจ้งขอแม่พระธรณีเปนสักขีพยานแก่การมหากุศลสังฆทานสามหาบนี้เรียบร้อย


 
ออกเดินทางต่อไปแหลมเจริญ ที่ซึ่งท่านบิดาชอบมากินข้าว กินอาหารทะเล สูดอากาศ เตรียมว่าการเรือประมงใหญ่ออกไปทำลอยอังคาร ดูสถานที่แล้วเสร็จก็หาที่พักนอนโรงแรมแถวหาดแสงจันทร์นี้เพราะใกล้ท่าเรือปากน้ำระยอง
 
ตื่นเช้าออกจากห้องริมทะเลไปหาซื้อผลไม้เครื่องไหว้ กลีบดอกไม้ แลน้ำอบได้ที่ตลาดวัดลุ่ม (สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อครั้งยังเปนพระยาวชิรปราการตั้งทัพกู้ชาติที่นี่)  ได้มาแล้วก็แวะเข้าไปทำไมตรีกับประดาผีต่างๆ ไปยันเทพยดาผู้กำกับดูแลโลกหลังความตายหรือว่าแดนอิมกัง โดยการร่วมกุศลล้างป่าช้า บำรุงมูลนิธิและสุสานสว่างพรกุศล เมืองระยอง
 
กระทำสัตยาธิษฐานแก่ฟ้าดินว่า ข้าพเจ้าบุตรกตัญญูขอทำบุญร่วมกุศลนี้กับท่านเทพยดาผู้ใหญ่ ไปยังเหล่าพวกวิญญาณทั้งหลาย หากพบเจอดวงจิตของพ่อข้าพเจ้า ก็ขอจงโมทนาสาธุการ เจริญไมตรีมีแต่ความเอื้อเฟื้อให้กับดวงวิญญาณของพ่อข้าพเจ้า ด้วยกุศลข้าพเจ้าดั้นด้นฝ่าฟันความยากลำบากมาทำบุญให้ ขอดวงจิตของพ่อข้าพเจ้ามีกำลังแรงขึ้นเรืองขึ้น ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประดาภูตผีสัมภเวสีแม้ทุกชั้นวรรณะจากกองกุศลฝ่ายล้างป่าช้าที่ข้าพเจ้าทำทุนไว้นี้ ด้วยฯ
 
ออกรถไปท่าแหลมเจริญ ว่าเรือประมงมงคลชื่อ ศักดิ์อุดมพร ออกทะเล ตั้งเครื่องโหงวแซผลไม้ 5 อย่าง มีองุ่นแดง แตงเมล่อน แอปเปิ้ลแดง แอปเปิ้ลเขียว ส้มแมนดาริน น้ำดื่ม ดอกไม้ร้อย ส่งให้คนเรือไปไหว้แม่ย่านางเรือที่จะทำพิธี ตั้งลุ้งดินดิบทาทองประจุอังคารผ้าขาว ประพรมน้ำอบไหว้อังคาร แล้วตกแต่งทำดาจึงเชิญลงเรือ
 
เรื่องการบวงสรวงขอขมาแม่ย่านางเรือนี้ ชาวเรือเขาถือนัก วันเวลาปกติเขาไม่ให้คนตายลงไปในเรือ แต่วันนี้เราจำเป็น จึงต้องเซ่นไหว้บวงสรวงก่อน ไหว้ทั้งแม่ย่านางเรือศักดิ์อุดมพรและแม่ย่านางเรือณัฐพร ที่อัฐิอังคารของท่านจะผ่าน


 
ธูปหมดดอกไต้ก๋งออกเรือ คลื่นสงบลมเย็นพัดโชย ท้องน้ำก็สว่างสดใสเปนระยับประกาย ชาวเรือชมเปาะออกปากว่าอากาศดีมากวันนี้ทั้งที่พายุมาเมื่อวาน อย่างนี้เองที่เขาเรียกว่าอากาศ ‘เปิด’ ถึงตำบลจอดเรือปากน้ำ
ลูกหลานประพรมน้ำอบน้ำปรุงไหว้กระดูก บูชาดอกไม้สด แล้วกล่าวคำบูชาขออนุญาตท้องทะเล ว่า
 
ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ขอน้อมไหว้บูชา/ เจ้าแม่มหานที/ ท้าวสีทันดร/ และเทพยดาทั้งหลาย/ ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่/ ในทะเลนี้/ ด้วยเครื่องสักการะนี้/ ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย/ได้ประกอบกุศลกิจ/อุทิศส่วนบุญ/ แก่พลเอกสถาพร เกียรติภิญโญ/ผู้วายชนม์/ และกาลบัดนี้/ จักได้ประกอบพิธี/ ลอยอังคาร/ ของท่าน/พร้อมกับขอฝากไว้/ในอภิบาล/ ของเจ้าแม่นที/ ท้าวสีทันดร/ เจ้าแม่แห่งทะเล/ และเหล่าทวยเทพทั้งปวง/
 
โปรยกลีบดอกไม้เปนของบูชาแล้วจึงหย่อนลุ้งอังคารลงสู่ผืนน้ำ แต่งฝาลุ้งนิดหน่อยด้วยมาลัยพวง_ฝาลุ้งต้องมีเพราะเปนการแทนหมวก เจ้าอัฐิเปนคนใส่หมวก ต้องสมมติสัจจะซ้อนเข้าไป ส่วนท่านใดจะค่อนแคะเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็ต้องเรียนว่า ลุ้งนั้นเปนภาชนะดินดิบละลายน้ำได้ทันที ภูมิปัญญาคนโบราณออกแบบมาให้สำหรับบรรจุอังคารไปลอยน้ำใช้ดินดิบไม่ใช้ดินเผาที่จะคงสภาพเกะกะธรรมชาติต่อไปอีกเเสนนาน_ฉลาดไหมล่ะ
 
จังหวะนั้นก็ขออัญเชิญพระพุทธพจน์ศาสดา ซึ่งไม่มีสิ่งใดยิ่งไปกว่า ว่า อนิจจัง สังขารไม่เที่ยง ขอดวงจิตของพ่อสดับข้อธรรมนี้ ขอท่านได้หมดอาลัย ในกองสังขารที่กลับคืนสู่โลกธาตุ จงดวงจิตอิสระของพ่อหมดความกังวลใจทั้งปวง ออกเดินทางอย่างรื่นเริงในธรรมเทอญ
 
อนึ่งว่าการลอยอังคารนี้มีสาระ คือว่ามิให้ท่านผู้ตายมัวยึดติดกับสังขาร ซึ่งเป็นของมีลักษณะพึ่งพาได้บ้างไม่ได้บ้าง นาทีสุดท้ายพอจะพึ่งก็พึ่งไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องการเอาดวงวิญญาณไปไว้ทะเลเปนเรื่องว่า ร่างกายสังขารนั้นเปนธาตุดิน กลับสู่ธาตุดิน from earth to earth ก็เปนสัจจะความจริงอย่างนั้น เมื่อดวงจิตหมดอาลัยในเถ้ากระดูกแล้ว ได้มุ่งหน้าไปสัมปรายภพโดยสดชื่น


 
ส่วนคนเราคนลูกในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนผ่าน เด็กๆชั้นหลานหวาดหวั่นความตาย สยองสยดกับกายร่างสังขาร ใช้ชีวิตสนุกสบายในสายลมแสงแดด จะเก็บไว้ซึ่งประดากองกระดูกของสยองล่องขวัญ เพื่อทำอัฐิบูชา ทำสดัปกรณ์ ทำบังสุกุลรดน้ำ ตามเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ ก็คงค่อยๆพ้นสมัยไปทีละน้อยทีละน้อย ภาระต่อไปก็ไม่รู้จะสิ้นเสร็จลงที่ตรงไหน
 
สู้เอาแนวคิดยอดศิลปินอย่างท่าน ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี มาใช้ดีกว่า ตามคติท่านว่าชีวิตแสนสั้น แต่ศิลปะนั้นยืนยาว -แปลงรูปแปรอัฐิท่านบรรพชนเปนงานศิลปะก็ไม่เลว
 
ช่างท็อป oilart วาดภาพสีน้ำมันท่านผู้จากไปในเครื่องแบบนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (กองพันทหารรักษาวัง) หมวกพู่สีบานเย็น ซึ่งเมื่อปี2556 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งท่านผู้วายชนม์ไว้แต่ผู้เดียว
 
ส่วน เดเมี่ยน ณัฐธวัช คราวนี้สะบัดฝีแปรงในแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ จำลองภาพการออกเดินทางไกลครั้งสุดท้าย เมื่อ 2 มิถุนา 56 ที่ท่านเล่าว่าลงชาร์ล เดอโกลล์ แล้วก็เข้าเมือง ไปนอนเมอริเดียนตรงจตุรัสเหมือนเราเคยนอน รุ่งขึ้นไปพบกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส ธุระเสร็จแล้วจึงออกเดินทางไป สตรัสบวกซ์ ผ่านเมืองแร็ง ที่แคว้นชองปาญ ผ่านโรงไวน์ชาดอนเน่ย์สวยๆ ใช้เวลาสี่ชั่วโมงถึงเมืองชายแดนแห่งนี้‘สตรัสบวกซ์’
 
ท่านชอบวิถีชาวบ้าน เปิดตลาดเข็นผักพืชสดผลไม้ เนยแข็ง เจรจากันอย่างมิตรภาพ นอนโซฟิเทลแล้วเข้าไปเยอรมันต่อ โดยเข้าทางไฮเดลเบิร์กและมิวนิก
 
กลับมาแล้วท่านก็ชวนไปด้วยกัน แต่ก็มัววุ่นอะไรๆอยู่ เลยไม่ได้ไป จนสายเกินไป
 
ภาพนี้เดเมี่ยนวาดออกมางามงด แกถามว่าในฐานะนักเขียนซึ่งนับว่าเปนศิลปินประเภทหนึ่ง พึงใจจะให้ชื่อภาพว่าอะไร?
 
ไวเท่าความคิดก็โพล่งออกไปว่า“ Mon Coeur de Strasbourg” ชื่อไทยว่า“กุหลาบเถาว์หัวใจแห่งสตรัสบวร์ก”
 
เพราะ -มง เกอร์- แปลว่า -my heart- แต่อีกนัยยะหนึ่ง มง เกอร์ก็เปนชื่อพันธุ์กุหลาบเถา (ใส่ ‘ว์’ เพื่อยืดสายใยความรักความผูกพัน ให้ยาวนานขึ้นมาอีกสักหน่อย) ตามฉากหลังที่ท่านไปนั่งให้ฉายรูป เปนฉากหลังแห่งเมืองชายแดน สตรัสบวร์ก เมืองเล็กๆที่ท่านประทับใจและอยากให้ลูกได้ไปเยือนพร้อมกับท่าน เก็บความทรงจำแลจิตวิญญาณไว้ในงานศิลปะ แลดูจะเข้าท่ากว่าในโลกยุคใหม่ที่กำลังมาถึงนี้