เกิดอะไรขึ้น? ผ่านมาแล้ว 1 ปี "ภาษีมรดก" เก็บไม่ได้สักแดง! ฤา"สรรพากร" สิ้นมนต์ขลัง

01 มี.ค. 2560 | 05:55 น.
การจัดเก็บภาษีมรดกผ่านไป 1 ปี ยังจัดเก็บไม่ได้ ในขณะที่นักกฎหมายประเมินว่าสาเหตุมาจากการกำหนดวงเงินมรดกที่สูงเกินไป

1ปีแล้วที่ กฎหมายภาษีมรดก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่จนถึงตอนนี้กรมสรรพากรยังไม่สามารถเก็บภาษีมรดกได้เลย ซึ่งตารางการผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในเดือนมกราคม 2560 ที่เห็นอยู่นี้ คือ สิ่งยืนยัน จึงมีคำถามตามมาว่าเหตุใดจึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า ปัญหาการเก็บภาษีมรดกไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดวงเงินที่ต้องเสียภาษีไว้สูง และถึงมีการเก็บก็มีช่องทางในการจัดการมรดกเพื่อไม่ให้เสียภาษีได้ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายครอบครัวมาปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการมรดก

สำหรับภาษีมรดก เก็บจากผู้ได้รับมรดก ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ ตราสารทางการเงิน รวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท

กรณีเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ใช่บุพการี หรือไม่ใช่ผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีอัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

สำหรับ กฎหมายเรียกเก็บภาษีจากการรับมรดกและการยกให้โดยเสน่หา ถือเป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ที่นานาอารยประเทศมีใช้กัน สำหรับไทยมีความพยายามมานาน แต่เพิ่งมาสำเร็จในรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อให้ไทยมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเป็นกฎหมายที่จูงใจผู้มีฐานะดี บริจาคเงินเพื่อสาธารณประโยชน์ และลดการสะสมทรัพย์เพื่อมรดก