กรมชลฯ แจงกรณีภัยแล้งเมืองจันท์ ไม่ได้นำน้ำไปใช้ในเขตอุตสาหกรรมที่ระยอง

27 ก.พ. 2560 | 14:43 น.
กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวฝายบ้านท่าระม้า เมืองจันทบุรี แห้งขอดส่งผลกระทบต่อประชาชนด้านท้ายฝายต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากชลประทานยังไม่ปล่อยน้ำลงมา ทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และมีการนำน้ำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยองด้วย

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ฝายยางบ้านท่าระม้า เป็นฝายที่กรมชลประทานได้สร้างไว้ เพื่อทดน้ำที่ส่งมาจากเขื่อนคิรีธาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเขื่อนสะพานหิน อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 61.734  ล้านลูกบาศก์เมตร(ความจุเก็บกักสูงสุด 70 ล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ มีแผนการระบายน้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ประมาณวันละ 168,674 ลูกบาศก์เมตร จนถึงปัจจุบันเดือนกุมภาพันธ์ มีการระบายน้ำวันละ 287,280 ลูกบาศก์เมตร โดยจะต้องส่งน้ำแบ่งไปให้ในเขตอำเภอขลุงบางส่วนด้วย จึงทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาถึงฝายยางท่าระม้า มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำในเขตอำเภอมะขาม และอำเภอเมืองจันทบุรี เนื่องความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำที่เขื่อนคิรีธารปล่อยลงมา ทำให้ปริมาณน้ำที่ลงมาเติมไม่ทัน จำเป็นต้องปิด–เปิดประตูระบายน้ำของฝายยางท่าระม้าเป็นบางช่วง เพื่อทดน้ำให้ชาวสวนด้านบนสูบน้ำไปใช้ก่อน สลับกับชาวสวนด้านล่าง แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่ระบายออกมาจากเขื่อนคิรีธาร มีปริมาณค่อนข้างน้อย จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นในพื้นที่ด้านท้ายฝายยางท่าระม้า

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม 2560 เขื่อนคิรีธารจะปรับเพิ่มการระบายน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยจะมีการระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนในลุ่มน้ำจันทบุรี ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำลดลง ประกอบกับในปัจจุบันมีฝนตกในเขตจังหวัดจันทบุรี ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประมาณ 359.50 มิลลิเมตร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งลงไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งโครงการชลประทานจันทบุรี จะได้ประสานไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ(เขื่อนคิรีธาร)ในการแก้ไขปัญหาให้ชาวสวนผลไม้ในเขตลุ่มน้ำจันทบุรีต่อไป

สำหรับกรณีที่ได้มีการกล่าวอ้างว่า มีการสูบน้ำจากจังหวัดจันทบุรีไปจังหวัดระยอง เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม นั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เนื่องจากจังหวัดระยองมีปริมาณน้ำมากเพียงพอ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสูบน้ำไปใช้ในเขตจังหวัดระยอง ประกอบกับสถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำวังโตนด เป็นคนละลุ่มน้ำที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงไม่มีผลกระทบจากการสูบน้ำตามที่เกษตรกรได้กล่าวอ้างถึง จึงเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน