เข็นร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปภาครัฐมุ่งสู่ไทยแลนด์4.0

27 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับการความคืบหน้าในการเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ... ว่า มีข้อเสนอแนะในทิศทางสอดคล้องกันที่ต้องการให้มีหน่วยงานกลางที่ทันสมัยบริหารข้อมูลให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับที่มาของคณะอนุกรรมการชุดนี้ว่า เป็นการแต่งตั้งจาก สปท.ที่ได้เสนอกฎหมายในวาระการปฏิรูป ซึ่งร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ ที่กำลังจะมีการปรับปรุงกฎหมายและศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ กับร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะพ.ศ… .รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

[caption id="attachment_132048" align="aligncenter" width="355"] เข็นร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปภาครัฐมุ่งสู่ไทยแลนด์4.0 เข็นร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ปฏิรูปภาครัฐมุ่งสู่ไทยแลนด์4.0[/caption]

ทาง สปท.จึงได้เสนอช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชามติ ขณะนั้นยังไม่เสร็จสิ้น เช่นเดียวกับทางรัฐบาลก็ยังไม่ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บวกกับขณะนี้นโยบายรัฐบาลมุ่งผลักดันไทยแลนด์ 4.0 เพื่อปฏิรูปกลไกภาครัฐ ให้เป็น “รัฐบาลแบบเปิด” หรือ Open Government เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงควรนำมาให้บริการกับประชาชน

การจัดสัมมนาเพื่อฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะจึงเป็นการตอบโจทย์ร่วมกันของทุกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถตอบได้ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์และได้รับการคุ้มครองอย่างไร เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่จะเป็นผู้รับผิดชอบภารกิจนี้ มาตรฐานหลักเกณฑ์การจัดระบบข้อมูลหรือการเปิดเผยข้อมูล เพื่อนำไปสู่ระบบฐานข้อมูลกลางที่รัฐบาลจะสามารถใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

ระบบข้อมูลกลางที่รัฐบาลได้ทำไปแล้ว เช่น “ เว็บไซต์ ภาษีไปไหน” ของกระทรวงการคลัง ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ง่ายเพียงแค่คลิกเข้าไปในอินเตอร์เน็ต ก็ทราบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งรายละเอียดการจะซื้อจัดจ้าง และงบประมาณได้ทันที

ข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวทีสัมมนานั้น พล.ร.อ.ชุมนุม ระบุว่า มีประเด็นสำคัญ 3 ข้อที่ผู้เข้าประชุมให้ความสนใจ ประกอบด้วย 1.คำนิยามของคำว่า “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ควรครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล ควรเปิดกว้าง เดิมหน่วยงานราชการจะเป็นผู้เปิดเผย แต่ปัจจุบันมุ่งไปที่ประชาชน ว่าประชาชนต้องการข้อมูลอะไร และควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเดินทางมาขอข้อมูลที่หน่วยงานราชการให้เสียเวลา แต่ภาครัฐควรมีระบบสารสนเทศ ซึ่งที่ประชุมสะท้อนว่าทำอย่างไรจะไปถึงรูปแบบที่เข้าถึงง่ายและทันสมัย

2.ประเด็นการสร้างกลไกในการกำกับดูแลของรัฐ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น ซึ่งในร่างกฎหมายใหม่ กรรมการมีบทบาทสูงมาก แม้ว่าในร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการพยายามทำในรูปแบบนี้ แต่ในทางปฏิบัติประชาชนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล การวินิจฉัยในชั้นความลับ การเข้าถึงข้อมูลต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้

และ 3.มีการพูดถึงมากในประเด็นการบริหารจัดการข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพและเปิดเผยข้อมูล ต้องมีหน่วยงานขึ้นมารองรับ ซึ่งในปี 2540 เน้นเรื่องการใช้เอกสาร ในร่างกฎหมายใหม่ จะเพิ่มข้อมูลด้านอิเล็กทรอนิกส์มาช่วย เพื่อให้การบริการข้อมูลให้รวดเร็ว ไม่เป็นภาระหน่วยงานรัฐ และไม่เสียเวลา ซึ่งการที่จะบริการข้อมูลอย่างไร ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560