รู้จักละฮอร์.. ดินแดนแห่งโอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทย

26 ก.พ. 2560 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

MP20-3239-e ปากีสถานในวันนี้ได้เปลี่ยนไปมาก ภายหลังการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลจากผลกระทบสถานการณ์ทางการเมือง ภายใต้นโยบาย Look East หรือ East Asia Vision ผ่านมาตรการส่งเสริมการค้าการลงทุน และการให้สิทธิประโยชน์หลายประการแก่นักลงทุนต่างชาติ อาทิ อนุญาตให้นักลงทุนถือหุ้นได้ 100 % ในหลายสาขา และสามารถเช่าซื้อที่ดินได้ในระยะเวลาตั้งแต่ 30-99 ปี รวมถึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมืองที่สำคัญอีกหลายแห่ง

“ละฮอร์”อีกหนึ่งเมืองใหญ่ของปากีสถานที่แฝงไปด้วยศักยภาพมากมาย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือใกล้กับชายแดนปากีสถาน- อินเดีย ห่างจากเมืองหลวงอย่างอิสลามาบัดเพียง 4 ชั่วโมง หากเดินทางโดยรถยนต์ นับเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากนครการาจี โดยคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ของละฮอร์จะเพิ่มสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2568 ล่าสุด ละฮอร์ถูกยกให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจ และกลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากได้รวบรวมเอาห้างสรรพสินค้าและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไว้หลายแห่ง

นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศล้วนเล็งเห็นถึงศักยภาพของเมืองละฮอร์ โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวและดึงดูดการลงทุนได้มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการบริการ นอกจากนี้ รัฐบาลปากีสถานและนักธุรกิจในเมืองละฮอร์ยังได้เร่งส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของประชากรกว่า 8 ล้านคน โดยอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เป็นอีกหนึ่งสาขาธุรกิจที่น่าจับตา พร้อมด้วยพื้นที่อีกมากรอให้นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงชาวไทยเข้าไปจับจองคว้าโอกาส ซึ่งล่าสุดเจ้าของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ชาวไทยเริ่มเข้าสำรวจตลาดเฟอร์นิเจอร์กันแล้ว

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 นายสุชาติ เลียงแสงทอง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด ได้รับเชิญให้เป็นประธานในงานเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์ Index Pakistan ที่เมืองละฮอร์ ซึ่งเป็นการจัดงานในเมืองที่ 4 ในปากีสถาน ต่อจากสาขาอิสลามาบัด ราวัลปินดี และการาจี โดยสินค้าที่จำหน่ายใน Index Pakistan นั้น นำเข้าจากร้านเฟอร์นิเจอร์ Index เมืองไทยทั้งสิ้น ปัจจุบันสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวปากีสถานรุ่นใหม่วัยทำงาน รวมถึงกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลาง และฐานะดี เพราะมีสไตล์การออกแบบที่ทันสมัย ราคาไม่แพง ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม้ยางพารา และง่ายต่อการใช้งาน ทำให้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการตกแต่งที่พักอาศัยและสำนักงาน จากการสำรวจเมื่อต้นปี 2559 พบว่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยไปปากีสถาน มีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 356%ตามมาด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส ด้วยแนวโน้มความนิยมการขยายตัวที่พุ่งสูงเช่นนี้ ทำให้ตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์อย่างปากีสถานคือตลาดที่ “สดและใหม่”ของผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทยที่ไม่ควรมองข้าม

โอกาสทางการค้าการลงทุนของนักลงทุนไทยในปากีสถานยังเปิดกว้างมากขึ้น จากอานิสงส์ที่ไทยและปากีสถานได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2558 พร้อมกับจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมด้านการค้า เพื่อเร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน กอปรกับการเข้าทำตลาดอย่างจริงจังของภาคเอกชน ซึ่งได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งปากีสถาน และลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council: JBC) ไทย-ปากีสถาน รองรับการค้าการลงทุนในอนาคตระหว่าง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นการปูทางให้บริษัทเอกชนด้านเฟอร์นิเจอร์ไทยสามารถเข้าไปลงทุนในปากีสถานได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันปากีสถานก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย มูลค่าการค้ารวมเฉลี่ยของทั้งสองประเทศอยู่ที่ 1,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท สะท้อนการต้อนรับที่ประสบความสำเร็จจากผู้บริโภคชาวปากีสถาน

สำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจไปบุกตลาดปากีสถาน คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงเตรียมตัววางแผนศึกษาข้อกฎหมายเงื่อนไขต่างๆ หากสามารถเจาะตลาด ด้วยการหาผู้ร่วมทุนชาวปากีสถานที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ก็น่าจะเป็นช่องทางที่ราบรื่นขึ้น และไม่เพียงแต่สาขาธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เท่านั้นที่โดดเด่นในขณะนี้ หากแต่ยังมีสาขาธุรกิจอื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวปากีสถาน ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการบริการ ที่ยังรอการตัดสินใจของนักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพของ...เมืองละฮอร์ แห่งนี้

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.comหากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560