แนะคิดนอกกรอบให้ทันโลกยุคใหม่

26 ก.พ. 2560 | 03:00 น.
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเรื่อง“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ระบุว่า การจัดทำร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญและให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ที่ก้าวสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นในร่างรัฐธรรมนูญ จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสารภาครัฐมากขึ้น

ทาง กรธ.กำหนดขั้นตอนกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติเพราะหากประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสารการทำงานของราชการย่อมง่ายขึ้น รวมทั้งเสนอแนะให้กฎหมายมีบทลงโทษหากหน่วยงานราชการไม่ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ เพราะหากประชาชนทราบข้อมูลเท่าเทียมกับหน่วยงานราชการ ย่อมลดความขัดแย้ง และมีการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐ ส่งผลช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชันได้อีกทางหนึ่ง

การบริหารบ้านเมืองแม้ว่าข้าราชการมีเจตนารมณ์ที่ดี หวังทำนุบำรุงบ้านเมืองแต่บางครั้งความปรารถนาก็นำมาสู่ความยากลำบากให้ประชาชนเสมอ เช่นถึงคราวที่ราษฎรต้องการบอกถึงความทุกข์ยาก แต่บางครั้งกลายเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกว่าราชการทำงานลำบาก และหงุดหงิดกับการเดินขบวนของประชาชน ซึ่งจริงๆ แล้วที่ประชาชนต้องเดินขบวนเพราะเขารู้ข้อมูลไม่หมด ดังนั้นประชาชนจึงมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล ส่วนรัฐต้องเปิดเผยกับประชาชนให้มากที่สุด

ประเด็นบทลงโทษที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายมี2 มาตรา คือ 1.ประชาชนทำผิดให้ลงโทษ 2.คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด ไม่ให้รับโทษดูเหมือนเล่นงานประชาชนแต่ไม่เล่นงานเจ้าหน้าที่ พร้อมฝากให้คิดนอกกรอบเพื่อคิดหาระบบที่จะใช้เทคโนโลยใหม่มาเผยแพร่ อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ของการให้ข้อมูลข่าวสารยุค 4.0

“กฎหมายที่บังคับใช้กับประชาชนยิง่ มีโทษรุนแรงเท่าไรยิ่งเก็บส่วยได้มากเท่านั้นโทษยิ่งแรงการกลั่นแล้งยิ่งง่าย ที่เห็นกันตอนนี้ก็คือกฎหมายค้ามนุษย์ ตอนนี้โดนกันเป็นแถว การออกกฎหมายของรัฐ จึงต้องระวังตอนนี้เป็นยุคที่ประชาชนมีโอกาสรับรู้ว่ากฎหมายออกมาเพื่ออะไร ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกลมาก ถ้ามีหน่วยงานกลาง จะทำให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารได้เร็วขึ้น”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560