6 ปัจจัยบวก-3 ปัจจัยเสี่ยงส่งออกทูน่ามั่นใจโต10%

26 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
สินค้าทูน่าเป็นหนึ่งในโปรดักต์แชมเปี้ยนที่ไทยผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ทูน่าลอยด์ และอาหารสัตว์เลี้ยงทำจากปลาทูน่ามูลค่ารวม 7.72 หมื่นล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นทูน่ากระป๋อง 6.97 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4%

สำหรับทิศทางแนวโน้มของอุตสาหกรรมและการส่งออก ปัจจัยบวก-ลบ ต่ออุตสาหกรรมทูน่าของไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์ "ชนินทร์ ชลิศราพงศ์"นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เพื่อฉายภาพ

 ภาพรวมปีที่แล้วโต4%

"ชนินทร์" เผยว่า ในภาพรวมการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าหลักในปี 2559 ขยายตัวเป็นบวกทุกตลาดทั้งสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และตลาดอื่นๆ ยกเว้นสหภาพยุโรปหรืออียูที่ติดลบ 15% เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความยุ่งยากในเรื่องเอกสารการนำเข้า รวมถึงสินค้าทูน่ากระป๋องของไทยยังเสียภาษีนำเข้าอียูสูงถึง 24% ขณะที่หลายประเทศ เช่นฟิลิปปินส์ ปากัวนิวกินี กลุ่ม ACP(กลุ่มแอฟริกัน แคริบเบียน และแปซิฟิก)ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนำเข้าทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบ หากพิจารณาแล้วไม่ได้กำไรจริงผู้ประกอบการไทยก็จะไม่ส่งสินค้าไป

 มั่นใจยอดปีนี้8.5หมื่นล.

สำหรับในปี 2560 ทางสมาคมคาดการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยจะทำได้ที่มูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% มี 6 ปัจจัยบวกคือ 1.ค่าเงินบาทที่เวลานี้มีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ 2.จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของดตลาดตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่มีรายได้จากน้ำมันปรับตัวดีขึ้น 3.โรงงานผลิตสินค้าทูน่าของไทยมีการปรับตัวผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
4.วัตถุดิบในการผลิตสินค้าทูน่าของไทยนำเข้าจากจากแหล่งที่มีการทำประมงอย่างยั่งยืน ทำให้สินค้าได้รับการยอมรับ 5.มองว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และค่อย ๆปรับตัวดีขึ้น การจับจ่ายในสินค้าอาหารจะปรับตัวดีขึ้น และ 6.ประชากรโลกเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคสินค้าทูน่าซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานขยายตัวมากขึ้น

"ส่วนปัจจัยเสี่ยงสูงสุดในขณะนี้มี 3 เรื่องคือ 1.ปริมาณวัตถุดิบที่ทั่วโลกต้องระวังและร่วมมือกันอย่าให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย หรือจับมากเกินไป(โอเวอร์ฟิชชิ่ง) เพราะในอนาคตจะทำให้ปริมาณปลาลดลง 2.ความเสี่ยงเรื่องค่าเงินที่อาจมีความผันผวน และ 3. เรื่องแรงงานที่ขาดแคลน และค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการแข่งขันของสินค้าไทยสูงกว่าหลายประเทศ ซึ่งขอให้ภาครัฐดูแลในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างแบบค่อยเป็นค่อยไป"

 ราคาสินค้าขยับตามวัตถุดิบ

ขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบปลาทูน่าถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญที่จะมีผลต่อเป้าหมายการส่งออก โดยใน 2559 ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,300-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,600-1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และจากต้นทุนน้ำมันของเรือที่ใช้ทำการประมงสูงขึ้น

"จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาขายสินค้าต้องปรับตาม คาดตัวเลขส่งออกทูน่าของไทยในครึ่งแรกของปีนี้ และทั้งปีจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% เท่าที่เช็คบริษัทสมาชิกที่มีประมาณ10 ราย มีโรงงานรวมกัน 25 โรงพบส่วนใหญ่ในครึ่งแรกของปีนี้มีปริมาณส่งออก และราคาขายเพิ่มขึ้นดังนั้นแนวโน้มทั่วไปในปีนี้จะดีกว่าปี 2559"

 "ทรัมป์"กีดกันไม่กระทบ

"ชนินทร์"ให้ความเห็นกรณีนายโดนัลด์ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่มีแนวนโยบายกีดกันการค้าและสนับสนุนการจ้างงานในประเทศว่า ไม่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมทูน่าไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ทำน้อย จากไม่คุ้ม ค่าแรงสูง ปัจจุบันโรงงานทูน่าในสหรัฐฯ ก็มีเพียง 2 รายคือชิกเก้นออฟเดอะ ซี และบัมเบิ้ลบี โดยรายแรกมีคนไทยเป็นเจ้าของ(ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป) ซึ่งโรงงานในสหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้ากึ่งวัตถุดิบไปผลิต ไม่นำเข้าปลาไปขูดเอาเนื้อเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560