โอบกอดหัวใจให้อุ่นที่ ขุนยวม

26 ก.พ. 2560 | 01:00 น.
MP32-3239-9 เสียงไก่ขันรับต่อกันเป็นทอดๆ ทั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ร่างกายที่ขดงออยู่ในผืนผ้าห่มอุ่นที่เกิดจากการเย็บมือและยัดนุ่นของชาวบ้านแม้จะไม่ลื่นเนียนและเบาเหมือนผ้าห่มในเมืองกรุง แต่กลับโอบกอดเราไว้ทั้งคืนด้วยความอบอุ่นสุขจนลืมฝัน อุณหภูมิรอบกายที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 10 องศา ถูกเชื้อเชิญให้ค่อยๆ เปิดมุ้งสีขาวนวลก้าวออกจากผ้าห่มอุ่นลงบนพื้นไม้เย็นเฉียบตามกลิ่นหอมอ่อนๆ ของอาหารปรุงใหม่ที่ตระเตรียมสำหรับการตักบาตรในตอนเช้า

MP32-3239-4 “ขุนยวม” อำเภอริมชายแดนถูกโอบล้อมด้วยขุนเขา ส่วนหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทางมาที่นี่จึงมิใช่เรื่องง่าย หลายคนอาจต้องอาศัยยาแก้เมาหลายเม็ดเพื่อให้เดินทางมาถึงที่นี่โดยที่อาหารในกระเพาะไม่หมดไปเพราะอาการอาเจียนที่หยุดไม่ได้ แต่เมื่อมาถึงแล้วจะใช้ยาแก้ลืมกี่ขนานก็ไม่อาจละภาพและบรรยากาศที่ประทับใจจากเมืองเล็กๆ ที่แสนอบอุ่นนี้ได้เลย

MP32-3239-10 พรมแดนธรรมชาติที่แสนอุดมสมบูรณ์และการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชากรมิอาจแบ่งกั้นด้วยเส้นเขตแดน ณ อำเภอริมชายแดนแห่งนี้คือพื้นที่ผสมผสานทางเชื้อชาติ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ที่กลมกล่อม ละเมียดละไมจนนักท่องเที่ยวแบบเรา เรา หยุดยิ้มไม่ลง อาคารบ้านเรือนแม้จะมีรูปแบบการก่ออิฐถือปูนแบบสมัยนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังแทรกปนด้วย “เฮินไต” บ้านไม้รูปทรงแปลกตา พื้นยกสูงไม่มากนัก หลังคามุงด้วยใบตองตึงแห้งสีน้ำตาลแก่ ของชาวไทใหญ่ หรือกลุ่มคนที่เรียนตนเองว่า “ชาวไต” ชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์และเรื่องราว มีถิ่นกำเนิดทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินและป่าเขาพื้นที่ราบสูงในรัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า กลุ่มคนเวลาไม่อาจพรากเอาเอกลักษณ์ผ่านผืนผ้า เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน และวิถีชีวิตอันเรียบละมุนนี้ไปได้เลย

MP32-3239-2 สองเท้าก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับกระชับเสื้อไหมพรมตัวเก่งให้แน่นขึ้น เสียงจอแจ็กจอแจดังมาจากหัวมุมถนน ตลาดสดขุนยวมถือเป็นพื้นที่ที่คึกคักที่สุดในรุ่งเช้า อาหารและผักสดถูกห่อด้วยใบตองตึงและก้านตอกจากแผงต่างๆ ซึ่งมีเพียงโต๊ะตั้งวางเปลี่ยนพื้นที่ไปอยู่ในตะกร้าของชาวบ้านที่มาจับจ่ายซื้อของกันอย่างหนาตา จนทำให้บริเวณนี้รู้สึกอบอุ่นกว่าที่อื่นๆ เสียงพูดคุยรอบข้างที่ไม่ได้เจรจาเฉพาะเพียงการซื้อขายแต่ยังถามถึงสารทุกข์สุกดิบสารพัดราวกับไม่ได้เจอกันมานานนม

MP32-3239-3 นอกจากการตักบาตรหน้าบ้านและหน้าตลาดแล้ว สำหรับชาวไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติพันธุ์ใด สิ่งหนึ่งที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านานคือการทำอาหารบรรจุใส่ขันบ้าง ปิ่นโตบ้าง พร้อมดอกไม้ที่ได้จากการปลูกไว้แรมปีในบ้านบ้างก็ตัดรวบเป็นกำ บ้างก็ตัดมาจัดเรียงในกรวยใบตอง หอบใส่ตะกร้าไปถวายพระที่วัด สืบเนื่องจากพระสงฆ์ของวัดไทยใหญ่แบบดั้งเดิมนั้นไม่ออกบิณฑบาต ซึ่งเป็นกุศโลบายสำคัญประการหนึ่งที่ดึงให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญ พบปะ ณ ศูนย์รวมจิตใจแห่งนี้ ซึ่งวิถีปฏิบัติที่ชาวบ้านเดินทางเข้าวัดเพื่อถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุมิเพียงปรากฎเฉพาะวัดไทยใหญ่ ยังรวมถึงชุมชนชนบทอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ เช่นกัน

MP32-3239-5 ในวันพระชาวไทยใหญ่จะทำกระทงใบตองรูปแบบต่างๆ เรียกว่า “ก๊อก ซอม ต่อ” เพื่อสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กระทงใบเล็กที่ชื่อ “ติ๋นจ้าง” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เท้าช้า” คือกระทรงสำหรับถวายพระพุทธ (พระพุทธรูปองค์ประธาน) “กลีบบัว” สำหรับถวายเทพยดา เจ้าเมือง และ “เขี้ยวหมา” สำหรับถวายผีเรือนผีประตูหรือเจ้าที่เจ้าทาง

MP32-3239-7 วิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ในขุนเขาที่เขียวขจีขับเคลื่อนชีวิตของชาวไทยใหญ่ให้ดำเนินต่อไป แม้ปราการธรรมชาติจะมิอาจกีดกั้นความเจริญที่มาพร้อมกับนักท่องเที่ยว แฉกเช่นการมิอาจป้องกันการคืบคลานเข้ามาของสงครามโลก ที่ทำให้เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวสำคัญ “เส้นทางสายมรณะปาย - ขุนยวม” ในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่แสงสว่างแห่งธรรมะและวิถีจารีตประเพณีจะเป็นเกราะคุ้มครองให้ขุนยวม คือความสุขที่สัมผัสได้ด้วยตาและเห็นได้ด้วยใจตลอดไป

MP32-3239-6 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560