"ปุน ลอยฯ" ทำงานให้ ปตท. ต่อ เเม้ขึ้นบัญชีดำไว้เเล้ว อ้างเหตุเก็บงานที่เหลือให้เสร็จ

25 ก.พ. 2560 | 10:38 น.
วันที่ 25 ก.พ. 60 — ท่อก๊าซ ปตท. งบบาน "เทวินทร์" ยอมรับขึ้นบัญชีดำ "ปุน ลอย" ของอินเดีย ห้ามรับงาน ปตท. ยันเจรจาแล้ว ให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงเข้ารับงานติดตั้งคอมเพรสเซอร์โครงการพีซีเอสต่อ ส่งผลกระทบงบลงทุนบานปลาย เตรียมดูรายละเอียดเรียกมาเสียค่าปรับ เผยมติบอร์ดขอแก้ไขสัญญาอนุมัติ 27 พ.ค. 2559

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3239 ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-1 มี.ค. 2560 รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือน พ.ค. 2559 ได้มีมติว่าจ้าง บริษัท ปุน ลอยฯ (Punj Lloyd) สัญชาติอินเดีย กลับเข้ามาดำเนินการติดตั้ง Compressor และ Gas Turbine ในโครงกาารพีซีเอส สถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณ บริเวณอ่าวไทย เพื่อส่งก๊าซผ่านท่อไปยังระยอง บางปะกง และราชบุรี ในวงเงินเพิ่มเติมอีก 500 ล้านบาท

โครงการนี้ ตามสัญญาเดิมวงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งได้ขึ้นบัญชีดำ ไม่ให้มารับงาน ปตท. ได้อีก ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ด้วยเหตุทิ้งงานการก่อสร้างไปตั้งแต่ปี 2554 และยังทิ้งงานก่อสร้างโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 ระยอง-แก่งคอย ระยะทาง 300 กิโลเมตร ในปี 2557

การทิ้งงานของ บริษัท ปุน ลอยฯ ส่งผลให้โครงการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ของโครงการพีซีเอสล่าช้า กระทบต่องบลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนเดิมที่ตั้งไว้  8,800 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 36% โดยโครงการดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 6 โครงการ ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ สอบสวน บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็มฯ ติดสินบนให้เจ้าหน้าที่ ปตท. และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมฯ (ปตท.สผ.) เป็นเงินกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 385 ล้านบาท

ล่าสุด นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกมายอมรับว่า ได้ขึ้นบัญชีดำ บริษัท ปุน ลอยฯ สัญชาติอินเดีย ไม่สามารถรับงานโครงการของ ปตท. อีกได้ เพราะทิ้งงานก่อสร้างถึง 2 โครงการ แต่การให้ บริษัท ปุน ลอยฯ เข้ามารับงานก่อสร้างติดตั้ง Compressor และ Gas Turbine ได้อีกในช่วงปี 2559 ทั้งที่ได้มีการขึ้นบัญชีดำไว้แล้วนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า บริษัท ปุน ลอยฯ ได้รับสัญญาการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ตั้งแต่ปี 2552 และได้ดำเนินการก่อสร้างมาเป็นเวลา 2 ปี และในปี 2554 ก็มีปัญหาไม่สามารถดำเนินการต่อได้และทิ้งงานไป ขณะนั้นงานก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 85% ได้ล่าช้ากว่ากำหนด แต่ ปตท. ก็พยายามจะเจรจาให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งยืดเยื้อมาถึงปี 2556 งานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปประมาณ 93% ซึ่งเลยกำหนดสัญญาว่าจ้างแล้ว

เมื่องานติดตั้งคอมเพรส เซอร์ไม่แล้วเสร็จ แต่มีความต้องการใช้ก๊าซ ปตท. จึงไปเจรจากับผู้ผลิตก๊าซแหล่งอื่น ๆ มาทดแทน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดหาก๊าซ แต่เพื่อเป็นการจัดหาก๊าซที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะต้องทำการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ในส่วนที่เหลืออีก 7% ให้แล้วเสร็จ ทำให้ ปตท. ต้องไปเจรจากับทาง บริษัท ปุน ลอยฯ ใหม่ ซึ่งผลออกมาได้ข้อยุติ โดยให้บริษัทรับเหมาช่วงไปดำเนินการแทน ในฐานะคู่สัญญาเดิมไม่ใช่เป็นสัญญาใหม่

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า ปตท. ได้จ้าง บริษัท ปุน ลอยฯ กลับเข้าไปดำเนินการติดตั้งคอมเพรสเซอร์โครงการพีซีเอสใหม่คงไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบัน ปตท. ไม่ได้มีการติดต่อกับ บริษัท ปุน ลอยฯ แล้ว แต่จะเจรจากับบริษัทผู้รับเหมาช่วงโดยตรง คาดว่า จะก่อเสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการก่อสร้างที่ล่าช้า ได้ส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนของโครงการพีซีเอสที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ทราบว่าจำนวนมากน้อยเพียงใด จึงขอไปดูในรายละเอียดก่อน ส่วนจะมีค่าปรับจากการทิ้งงานและทำให้โครงการล่าช้านั้น จะขอไปดูรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว โดยบริษัท แม็คคอนเนล ดูเวล คอนสตรัคเตอร์ไทย จำกัด และบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ประมูลรับงานไป

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ปตท. ได้อนุมัติให้ บริษัท ปุน ลอยฯ เข้ามาก่อสร้างติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติในทะเล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559 โดย ปตท. ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในวาระที่ 4 เรื่อง “ขอความเห็นชอบแก้ไขสัญญาก่อสร้างติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติในทะเลกับบริษัท Punj Lioyd Group Joint Venture”

โดยวันนั้นบอร์ด ปตท. ประชุมกันที่ห้องประชุมชั้น 23 อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 14 คน ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท., นายสมชัย สัจจพงษ์, พล.อ.ฉัตรชัย เฉลิมสุข, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายวัชรกิติ วัชโรทัย, พล.อ.ท.บุญสืบ ประสิทธิ์, นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์, นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค, นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ, นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ, นายวิชัย อัศรัสกร, นายดอน วสันตพฤกษ์, นายชวลิต พิชาลัย และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช”

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบสินบนโรลส์-รอยซ์นั้น นายเทวินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะต้องขอรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องเชิญมาให้ปากคำอยู่ โดยเฉพาะการขอข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้องไปยังกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังไม่มีการส่งมาให้ แต่ก็ได้รายงานให้บอร์ดรับทราบเป็นระยะ ๆ และบอร์ดได้เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยจะให้มีการขึ้นทะเบียนของนายหน้าที่จะเข้ามารับงาน เพิ่มการจัดเก็บเอกสารเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น