'คางกุ้งอบกรอบ'โตพรวด'พิมพ์มาดา' (จะ) 100 ล้าน

25 กุมภาพันธ์ 2560
ตัวเลขของอายุไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกความสำเร็จในการทำธุรกิจ แต่ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ต่างหากที่เป็นเสมือนบันไดเชื่อมต่อไปสู่จุดหมาย "แพร" พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์ ประธานกรรมการผู้บริหาร บริษัท โอคุสโน่ฟู้ด จำกัด เจ้าของธุรกิจคางกุ้งทอดอบกรอบ แบรนด์ Okusnoได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอายุน้อยก็สามารถสร้างรายได้หลัก 50 ล้านบาทให้กับตัวเอง และครอบครัวได้ด้วยวัยเพียง 27 ปีและในปี 2560 ตั้งเป้ารายได้สูงถึง 100 ล้านบาท

 จากความสงสัยไปสู่ธุรกิจ

พิมพ์มาดา บอกถึงที่มาที่ไปกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่ตอนที่อายุประมาณ 23-24 ปี จากความช่างสงสัย โดยเหตุเกิดบนโต๊ะอาหารเมื่อเห็นว่าส่วนหัวของกุ้งมักจะถูกแกะทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์อยู่เสมอ จึงเกิดไอเดียในการนำส่วนดังกล่าวของกุ้งมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ และได้ประดิษฐ์คำที่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์ว่า คางกุ้ง เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดที่เคยระบุเอาไว้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาเป็นขนมคางกุ้งอบกรอบอย่างที่เห็น พิมพ์มาดาได้ผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน จนตกผลึกทางความคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการทอด หลังจากนั้นจึงเริ่มทดลองตลาดโดยการนำไปฝากขายขายตามร้านคาเฟ่ให้ทดลองชิม ทำแพ็กเกจให้น่าสนใจ และอาศัยเสียงตอบรับจากผู้ที่ได้ชิมเพื่อนำคำติชมมาพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพทั้งเรื่องรสชาติ และการเก็บรักษา

"ใช่ว่าธุรกิจจะถูกโรยไปด้วยกลับกุหลาบ เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์ของเราค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับตลาด ผู้บริโภคไม่รู้จักจึงต้องใช้วิธีเจาะตลาดกับผู้บริโภคโดยตรงให้ได้ชิม และนำความคิดเห็นมาปรับปรุง ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด"

พิมพ์มาดา บอกว่า ในช่วงปีแรกที่ทำตลาดส่วนใหญ่จะจำหน่ายอยู่ที่เดอะมอลล์ ท็อป และเน้นการออกบูธทั้งปี โดยส่วนหนึ่งที่ต้องเน้นออกบูธเพราะยังไม่เป็นที่รู้จัก โดยยอดขายปีแรกอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2 ซึ่งคือปี 2559 สามารถผลักดันสินค้าให้เข้ามาจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นได้เพิ่มเติม แต่จะมีจำหน่ายเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล และการออกบูธเฉพาะงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะงาน Thaiflexทำให้ได้ลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม Okusno ขยายฐานลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น

สำหรับในปีที่ 2 ของการทำธุรกิจถือว่า Okusno เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ตั้งเป้าที่จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท จากการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าไปสู่เซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วประเทศ และนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปที่มีศักยภาพของหัวเมืองต่างๆ และการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายไปกลุ่มประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่มมุสลิม เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลก และ Okusno ก็มีตราสัญลักษณ์ฮาลาลทำให้สามารถเข้าไปทำตลาดได้โดยง่าย

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกรสชาติใหม่อีก 2 รสชาติ ได้แก่ รสผัดไท และรสแกงกะหรี่ญี่ปุ่น โดยรสชาติแกงกะหรี่ญี่ปุ่นจะถูกนำไปวางจำหน่ายที่เซเว่นฯเพิ่มเติมให้เป็น 3 รสชาติ ส่วนรสผัดไทจะเน้นจำหน่ายทางออนไลน์ และห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก อีกทั้ง ยังเตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยนำส่วนขากุ้งมาเป็นส่วนประกอบภายใต้ผลิตภัณฑ์ "น้ำพริกขากุ้ง"ซึ่งจะวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดเท่านั้นในระยะแรก

 ยึดซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค

พิมพ์มาดา ยังได้บอกถึงเคล็ดลับในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับเฉพาะตัวด้วยว่า ยึดหลักความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า โดยจะใส่ใจทุกกระบวนการผลิตเหมือนกับรับประทานเองที่บ้านเรียกว่าผู้บริโภคต้องได้สิ่งที่ดีเหมือนกัน หรือแม้แต่ซัพพลายเออร์เองก็ต้องมีความชื่อสัตย์เช่น น้ำมันที่ใช้ทอดก็จะมีการเปลี่ยนใหม่ทุกวันไม่นำมาใช้ซ้ำ

 ใช้กลยุทธ์เร็วและแตกต่าง

ด้านกลยุทธ์ในการทำธุรกิจนั้น พิมพ์มาดา บอกว่า เน้นใช้ความเร็วกับความแตกต่าง โดยในส่วนของความเร็ว การจะดำเนินการหรือทดลองอะไรจะทำอย่างรวดเร็ว เช่น จะทำแคมเปญนี้ หรือจะผลิตสินค้าอะไร รสชาติใดออกมาก็ลองเลย โดยเราสามารถนำผลตอบรับจากความเร็วตรงนั้นที่เราลงมือทำกลับมาปรับให้ดีขึ้นได้

ส่วนความต่างเวลาทำอะไรจะไม่คิดซ้ำกับคนอื่น บางแคมเปญ บางผู้ประกอบการอาจจะซื้อ 1 แถม1 หรือซื้อ 2 แถม 1 แต่ของเราจะกึ่งขอความเห็นจากลูกค้าด้วยเช่น ล่าสุดได้ทำแคมเปญที่ให้ผู้บริโภคได้ช่วยสำรวจว่า เซเว่นฯ สาขาใดที่ไม่พบสินค้า Okusno และให้พิมพ์กลับมาบอกว่าเลขที่สาขาหน้าร้านคือที่ไหน เราก็จะเข้าไปดำเนินการ ลูกค้าก็จะได้รางวัลกลับไป โดยเราจะทำในลักษณะที่บริษัทได้แต่ผู้บริโภคก็ต้องได้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560