หุ่นยนต์จีนก้าวสู่เบอร์1โลก?

25 กุมภาพันธ์ 2560
MP07-3239-D ภายใต้นโยบายรัฐบาลจีนปัจจุบันที่กำลังผลักดันให้ ประเทศจีนเป็นตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก (ทั้งผลิตและการขาย) โดยเน้นการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม และจะปฎิวัติหุ่นยนต์จีนใหม่หมด นอกจากนี้ยังต้องการให้หุ่นยนต์เข้ามาเปลี่ยน “โฉมหน้าอุตสาหกรรมจีนตามนโยบายปฏิรูปภาคการผลิต (Supply-Side Reform)” อีกด้วย
มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตหุ่นยนต์ เมื่อจบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ว่าในปี 2563 จีนต้องผลิตหุ่นยนต์ให้ได้จำนวน 1 แสนตัว เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์นั้น ประกอบด้วย 3 ประเภทคือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม หุ่นยนต์เพื่อบริการ และหุ่นยนต์เพื่อทหาร

ตามรายงานของ “World Robotics” พบว่าปี 2558 มีการผลิตหุ่นยนต์ทั่วโลกจำนวน 253,748 ตัว มูลค่าอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 คาดว่าตลาดโลกผลิตกันที่ 3 แสนตัว และปี 2562 คาดว่าจำนวนหุ่นยนต์ที่ขายกันขึ้นไปที่ 4แสนตัว ในจำนวนดังกล่าวประเทศจีนมีอัตราการขยายตัวความต้องการสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 36% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความต้องการหุ่นยนต์ทุกประเภทของโลกโตร้อยละ 16 แต่ช่วงปี 2553 ถึง 2557 การขยายตัวความต้องการสูงถึง 100%

ตลาดที่ขยายตัวมากที่สุดคือเอเชีย ซึ่งมาจากความต้องการของประเทศจีนเป็นหลัก ตามด้วยความต้องการของยุโรปและทวีปอเมริกา

นอกจากนี้ในปี 2558 สัดส่วนความต้องการหุ่นยนต์ร้อยละ 75 อยู่ใน 5 ประเทศ คือ ตลาดจีน (68,600 ตัว คิดเป็น 28% ในโรงงานของจีน) เกาหลีใต้ (38,300 ตัว) ญี่ปุ่น (35,000 ตัว) สหรัฐฯ (27,504 ตัว) และเยอรมนี (20,105 ตัว) จากจำนวนยอดขายหุ่นยนต์ทั้งหมดนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และ 30% ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์

แม้ว่าจีนมีทั้งความต้องการและการผลิตที่สูงสุดในโลกก็ตาม แต่หากพิจารณาจากจำนวนหุ่นยนต์ต่อ 1หมื่นแรงงานคน พบว่าเกาหลีใต้มีสัดส่วนสูงที่สุด 478 ตัว ญี่ปุ่น 314 ตัว เยอรมนี 292 ตัว สหรัฐฯ 164 ตัว (ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 66 ตัวต่อ 10,000 แรงงานคน) ในขณะที่ประเทศจีนอยู่ที่ 33 ตัวต่อ 1หมื่นแรงงานคน ซี่งถือว่ายังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ในอนาคตปี 2560-2562 คาดว่าความต้องการหุ่นยนต์ในตลาดโลกจะยังโตด้วยอัตราการขยายตัว 2 หลักด้วยเหตุผลคือ ทุกประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันให้อุตสาหกรรมเป็น “4.0” ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร พลาสติก ยางพาราและเครื่องจักรยังโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ในภาตอุตสาหกรรมดังกว่าวจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับจีนนั้น มีโอกาสจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของการผลิตหุ่นยนต์ของโลกได้เพราะ 1.อุตสาหกรรมรถยนต์จีนยังขยายตัวอย่างโตเนื่อง ปี 2558 จีนผลิตรถยนต์ทุกประเภท 24.5 ล้านคัน ปี 2563 คาดว่าจะผลิต 31 ล้านคัน 2. “อุตสาหกรรม 3C” จีนขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ Computer, Communication และ Consumer Electronics นอกจากนี้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยางพารา พสาสติก อาหาร โลจิสติกส์และเครื่องจักรจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ความต้องการหุ่นยนต์ในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นอีก

3.มณฑลตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีนยังคงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เช่น เมืองเสินเจิ้น (Shenzhen) มณฑลกว่างตุ้ง (Guangdong) เมืองฉางโจว (Changzhou) ในมณฑลเจียงซู (Jiangsu) เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) รวมทั้งปักกิ่ง เมืองทั่งฉาน (Tangshan) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) นครฉงชิ่ง (Chongqing) และเมืองจินเจียง (Jincheng) มณฑลชานสี (Shanxi) ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก

4.นโยบาย “Made in China 2025” ที่ให้ความสำคัญกับ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมีความจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เข้าไปช่วยทั้งสิ้น 5.ค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนเพิ่มขึ้นปีละ 12% การนำหุ่นยนต์มาใช้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง เช่น บริษัท Foxconn มีโรงงาน 12 โรงในประเทศจีน (ของไต้หวัน) ที่รับจ้างผลิตไอโฟนได้ลดจำนวนคนงาน 6 หมื่นคน โดยการนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่

6.จากตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทหุ่นยนต์ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนและขายหุ่นยนต์ในประเทศจีน เช่น บริษัทผลิตหุ่นยนต์ Kukaของเยอรมัน บริษัท Yaskawaของญี่ปุ่น บริษัท ABB ของสวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากจีนจะก้าวขึ้นเบอร์ 1 ของการผลิตหุ่นยนต์ของโลกให้ได้นั้น จีนต้องเร่งผลิตและพัฒนาคุณภาพให้เท่าเทียมหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นและเยอรมัน เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตหุ่นยนต์ของจีนผลิตได้เพียง 30% เพื่อตอบสนองโรงงานจีน ในขณะที่คุณภาพหุ่นยนต์โดยรวมยังมีคุณภาพต่ำอยู่ นอกจากนี้แบรนด์หุ่นยนต์จีนก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก รูปลักษณ์การออกแบบหุ่นยนต์ยังไม่โดดเด่น และยังขาดองค์ความรู้

เหตุผลดังกล่าวทำให้บริษัทจีนจึงอาศัยการเรียนลัดในการพัฒนาหุ่นยนต์ เช่น บริษัท “Midea” ของจีนเข้าไปถือหุ้นหุ่นยนต์ “Kuka” ของบริษัท “VoithGmbh” ของเยอรมันจำนวน 25% อย่างไรก็ตามก็ยังมีบริษัทที่เป็นหัวจักรในการพัฒนาหุ่นยนต์ของจีน เช่น บริษัท “Siasun” เป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีนที่ผลิตหุ่นยนต์สามารถผลิตตามมาตรฐานของโลก Siasunเป็นบริษัทลูกของ CAS (Chinese Academy of Sciences) ที่เป็นหน่วยงานของรัฐฯ ทำหน้าที่ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน

บริษัทนี้ผลิตหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม หุ่นยนต์โมบาย หุ่นยนต์ทำความสะอาด และหุ่นยนต์บริการ บริษัท “Harbin Boshi Automation” ผลิตหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมขุดเจาะและสำรวจน้ำมันและหุ่นยนต์ในภาคเกษตรกรรม และบริษัท “ShougangMotomam Robot” เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับ Yaskawaของญี่ปุ่น โดยผลิตส่วนประกอบหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซด์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ก็ต้องมาติตตามดูกันต่อไปครับว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ของจีนจะไปถึงความฝั่งหรือไม่ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560