ความเสี่ยงไฟฟ้าภาคใต้แขวนกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

25 กุมภาพันธ์ 2560
ไม่ว่าการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ที่จะให้มีการศึกษารายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ)ใหม่ หรือให้ปรับปรุงอีเอชไอเอ ประกอบผลการศึกษาของคณะกรรมการไตรภาคี ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ จะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม จะส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป 1-2 ปี จากเดิมที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเขาระบบในปี 2562 ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปี 2564 หรือไม่ก็ต้นปี 2565

 รับการใช้ไฟเติบโตไม่ทัน

ผลของความช้าล่าดังกล่าว ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ออกมายืนยันว่าความเสี่ยงของปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ของภาคใต้ อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปี 2563 เนื่องจากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาทดแทน จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวในระดับปีละ 5 % ได้ ขณะที่สายส่งไฟฟ้าที่มีความยาวกว่า 600 กิโลกเมตร ขนาด 500 เควี รองรับการจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางลงไป 600 เมกะวัตต์ ก็ไม่สามารถขยายการส่งเพิ่มได้ ประกอบกับการก่อสร้างสายส่งวงจรใหม่คู่ขนานของเดิมก็มีข้อจำกัดเสร็จไม่ทันที่จะมารับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นไฟฟ้าของไฟฟ้าภาคใต้ที่จะเกิดขึ้น

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ และโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ชี้ให้เห็นว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้มีไม่พอ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวอยู่มาระปีละ 5 % ในขณะที่ มีโรงไฟฟ้าหลักอยู่ 9 โรง เป็นโรงไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำ 2 โรง กำลังผลิต 312 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียน 2 แห่ง กำลังผลิต 30.5 เมกะวัตต์ น้ำมันเตา 1 โรง ขนาด 315 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าดีเซล 26 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 3 แห่ง รวมกำลังผลิต 2,406 เมกะวัตต์ รวมกำลงผลิต 3,059.5 เมกะวัตต์

แต่หากมาพิจารณาจะพบว่า พลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียน เป็นพลังงาที่พึ่งไม่ได้แน่นอนมีอยู่ถึง 342.5 เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้าดีเซลและน้ำมันเตาและก๊าซฯที่พึ่งไดนั้นจะมีอยู่เพียง 2,747 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกของภาคใต้เมื่อมีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ หากอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ที่ 5 % หรือราว 150 เมกะวัตต์ ก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ไม่เพียงพอ

 สายส่งภาคกลางส่งไปช่วยไม่พอ

โดยมีการประมาณการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 3,200 เมกะวัตต์ และในปี2564 อยู่ที่ 3,360 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าของภาคใต้ที่มีอยู่จะมีไม่เพียงพอ ซึ่งภาคใต้ที่มีไฟฟ้าพอใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะมีสายส่งขนาด 500 เควี ความยาวกว่า 600 กิโลเมตร จากภาคกลางไปช่วยได้ประมาณ 600 เมกะวัตต์ แต่หากเกิดภัยธรรมชาติ หรือการก่อวินาศกรรมจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ จะทำให้เสี่ยงต่อการถูกตัดขาดไฟฟ้าจากภาคกลางได้

อีกทั้ง การก่อสร้างวงจรที่ 2 เพื่อให้สามารถส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยมากขึ้น แต่การก่อสร้างติดปัญหาการเวนคืนที่ดินทำให้เกิดความล่าช้าได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นในภาคใต้ เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัย อย่างการเกิดฟ้าผ่าสายส่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ส่งผลให้ 14 จังหวัดภาคใต้เกิดไฟฟ้าดับมาแล้ว

ส่วนการจะหันไปใช้ก๊าซแอลเอ็นจีทดแทนถ่านหินนั้น ขณะนี้ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้ทัน เพราะจะต้องไปหาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อรองรับการนำเข้าแอลเอ็จจี และต้องเริ่มขบวนการศึกษาอีเอชไอเอ ก็กินระยะเวลานาน ที่สำคัญการใช้ก๊าซแอลเอ็นจีจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าสูงขึ้น และไม่ตอบสนองกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีของประเทศที่ต้องการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าลงมา เพื่อกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิง

 พลังงานทดแทนพึ่งไม่ได้

ขณะที่มุมมองของกลุ่มคัดค้านที่ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เสนอให้หันไปพึ่งการใช้ปาล์มน้ำมันและพลังงานพลังงานทดแทน เนื่องจากที่ภาคใต้มีทั้งปาล์มน้ำมันและทะลายปาล์ม ที่มีศักยภาพนำมาผลิตไฟฟ้าได้นั้น ความเห็นจากนักวิชาการอย่างศ.ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ หัวหน้าศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นว่า แม้ปาล์มน้ำมันจะมีมากก็จริง แต่ไม่ได้ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว เพราะต้องป้อนให้สำหรับการบริโภคด้วย

อีกทั้ง ผลผลิตออกมาเป็นฤดูกาล โรงไฟฟ้าไม่สามารถจะผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง และไม่มีความพร้อมที่จะทำสัญญาขายไฟฟ้าเข้าระบบที่แน่นอนได้ ที่สำคัญต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวนี้ ก็มีราคาแพง ซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของคนทั้งประเทศ

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า ทางภาคใต้มีแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีการบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีไว้แล้ว โดยมีเป้าหมายที่ 2,465 เมกะวัตต์ ภายในปี 2579 ส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,026 เมกะวัตต์ และชีวมวล 822 เมกะวัตต์ โดยปีที่ผ่านมามีการพัฒนาแล้วประมาณ 687 เมกะวัตต์ แต่จ่ายไฟฟ้าจริงได้ไม่ถึงครึ่ง เห็นได้จากจังหวัดกระบี่เองมีการพัฒนาพลังงานทดแทนแล้ว 104 เมกะวัตต์ แต่จ่ายไฟฟ้าได้จริงเพียง 42 เมกะวัตต์ เท่านั้น

ดังนั้น การจะพึ่งพลังงานทดแทนมาเป็นโรงไฟฟ้าหลักนั้น จึงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจ่ายไฟฟ้ามีความไม่แน่นอน จึงต้องมีโรงไฟฟ้าฐานจากฟอสซิลมารองรับ

 ทางออกเร่งก่อสร้างสายรองรับ

สำหรับทางออกของการแก้ปัญหา ที่จะลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงไฟฟ้าของภาคใต้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับกฟผ.จะไปเร่งก่อสร้างสายส่งวงจรที่ 2 จากจอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ขนาด 500 เควี ระยะทางราว 800 กิโลเมตร มีมูลค่าโครงการรวม 6.32 หมื่นล้านบาท และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างช่วงสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-หาดใหญ่ 3 ขนาด 500 เควี ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร มูลค่ารวมประมาณ 3.54 หมื่นล้านบาท ได้เร็วแค่ไหน ทันกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ของความมั่นคงด้านไฟฟ้าของภาคใต้ ที่มาผูกติดกับการก่อสร้างของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ที่สำคัญการศึกษาอีเอชไอเอใหม่ครั้งนี้ รัฐบาลหวังว่าจะช่วยลดการชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตามข้อเสนอของกลุ่มต่อต้าน แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลการศึกษาอีเอชไอเอ ที่กฟผ.หรือหน่วยงานกลางจัดทำออกมาแล้ว ก็ยังเชื่อว่าจะมีการต่อต้านอยู่ ตราบใดที่มีธงอยู่ในใจแล้วว่าต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560