ทางออกนอกตำรา : ภาระจำนำข้าว ชดใช้กันยาวอีก 9 ปี

24 กุมภาพันธ์ 2560
 

2546879-3

 

 

 

ทางออกนอกตำรา 
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

ภาระจำนำข้าว  ชดใช้กันยาวอีก 9 ปี 

ในขณะที่หน่วยของรัฐ 2 องค์กร คือ "กรมการค้าต่างประเทศและกรมบังคับคดี" กำลังมะงุมมะงาหรากับการหาวิธีการเรียกค่าเสียหายกับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ,นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ กับพวกรวม 6 คน ในคดีทุจริตระบายข้าว “จีทูเจี๊ยะ” มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังตบเกียร์ 5 เรียกค่าเสียหายจาก "นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558  ฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 123/1   และปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5 แสนล้านบาท
ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐบาล (ป.ป.ท.) กำลังรวบรวมข้อมูลการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวอีก 80% อีกกว่า 853 คดี กำลังเดินหน้าไปอย่างอืดอาดยืดยาด

มีคำถามที่ตามมาว่า ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวรวม 6 แสนกว่าล้านบาทนั้น มีการชำระสะสางกันไปถึงไหน และหากยึดทรัพย์บุคคลทั้งหมดมาได้เพียงเล็กน้อย รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

ผมไปตรวจสอบเอกสารทางด้านงบประมาณ และแผนงานที่กระทรวงการคลังกำหนดกรอบไว้ พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า หนี้จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลลดลงมาจาก 5.1 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาทแล้ว เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวทำให้มีรายได้มาชำระหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างต่อเนื่อง

แต่เนื่องจากข้าวที่มีอยู่ในขณะนี้เสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว เพราะเก็บมาหลายปี จึงขายได้ราคาต่ำกว่าที่รับซื้อมาในอดีตตันละ 1.5 หมื่นบาทจำนวนมากและสุ่มเสี่ยงว่าขายออกไปก็ชดใช้ไม่หมด

อย่างไรก็ดีการระบายออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาการค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลังลดลงอย่างมาก หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาหนี้จำนำข้าวค้างเติ่งอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส.ต้องยื่นเรื่องเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี  ขยายเวลาลดหนี้ให้เหลือไม่เกิน 5 แสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ไม่ต้องแล้ว ทำให้มีลมหายใจในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

กระทรวงการคลังประเมินว่า หากระบายข้าวที่เหลือทั้งหมดมาใช้หนี้ ก็จะยังมีหนี้ค้างเหลืออีกก้อนหนึ่งที่ต้องหาเงินมาชดเชย
เพราะข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐประมาณ 8 ล้านตัน  บางส่วนเสื่อมสภาพตามอายุการเก็บรักษา โดยข้าวทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 3เดือน-8 ปี 10 เดือน (นาปรัง 2551 – นาปี 2556/57) มีหลายเกรดคละกัน  โดยที่ผ่านมาภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวในสต็อก เดือนละประมาณ 504 ล้านบาท หรือวันละ  17 ล้านบาท

ในจำนวนนี้มีข้าวเกรดเอ มีอายุการเก็บต่ำกว่า 5 ปี สามารถนำไปปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้ที่ควรระบายเป็นการทั่วไป 3.01 ล้านตัน      เป็นข้าวเกรด 2 ที่ควรระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคนอยู่ 3.15 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน ข้าวผิดชนิด  ข้าวผิดไปจากมาตรฐานปนอยู่ในปริมาณมาก มีอายุการเก็บต่ำกว่า 5 ปี ไม่เหมาะต่อการนำไปปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน แต่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรืออุตสาหกรรมแปรรูปที่ไม่ใช่อาหารคน  เป็นข้าวเกรด 3 ที่ควรระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคนและสัตว์ 1.85 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน ข้าวผิดชนิด ข้าวผิดไปจากมาตรฐาน และมีอายุการเก็บรักษาเกิน 5 ปี ผ่านการอบยามานาน อาจปนเปื้อนสารตกค้าง

ถ้าพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า รัฐต้องมีหนักหน่วงแน่ เพราะข้าวที่เหลือส่วนใหญ่เป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ ต้องขายในเชิงพาณิชย์นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือขายในเชิงอุตสาหกรรมไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งจะได้ราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่รับจำนำมา

สำนักงบประมาณจึงได้จัดสรรงบมาชำระหนี้จำนำข้าว ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ขณะนี้ปีละ 4.8- 5 หมื่นล้านบาท

ถามว่า ถ้าจัดงบชดเชยแบบนี้รัฐบาลจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะจ่ายความเสียหายจากการรับจำนำข้าวที่สะท้านเมืองออกไปหมด
ฟังคำตอบจากผู้บริหารกระทรวงการคลังแล้ว ให้ถอนใจเฮือกใหญ่ในภาระของประเทศจากการดำเนินนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดที่มีช่องโหว่ในการทุจริตมหาศาลคือ ยาวนานไม่น้อยกว่า  8-9 ปี จึงจะชำระหนี้ได้หมด

ทางออกในการหาเงินมาชดเชยในความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวจึงมีแต่ทางตัน นอกจากไล่บี้ยึดทรัพย์เอกชนที่เกี่ยวข้องที่ฟ้องอยู่ 853 คดีมาชดใช้ร่วมด้วย…
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3239 ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-1มี.ค.2560