ตรวจแนวรบ ดิจิตอล : อาชีพทนายตาย! จริงหรือ? เมื่อ "หุ่นยนต์" แทนที่

24 กุมภาพันธ์ 2560
000

 

 

โดย อนุสรณ์ ฉิมบ้านไร่

 

เชื่อว่า หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปี 2017 นั้น เป็นปีแห่งความท้าทาย การต่อสู้ระหว่างคนกับเทคโนโลยี แน่นอนว่า ในปีนี้ มันกำลังรุกคืบเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของประชากรโลก และมันเริ่มบีบบังคับให้บางอาชีพต้องตายลง

อาจจะฟังดูว่า มันน่ากลัว แต่มันกำลังจะกลายเป็นจริง เราคงพอเห็นกันอยู่บ้างว่า ในปัจจุบัน "หุ่นยนต์" เริ่มเข้ามาแทนที่ ทำงานแทนมนุษย์ อย่างเช่น หุ่นยนต์ประกอบรถยนต์, หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หรือแม้แต่ตู้รับบัตรเพื่อขึ้นทางด่วน ก็ยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ รถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ และเชื่อว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนนี้มนุษย์ในเรื่องของงานด้านการบริการมากขึ้น เพราะทุกวันนี้มันมีความฉลาดมากเหลือเกิน แต่ใครจะคิดว่า ขณะนี้นักกฎหมายหรือทนายความที่เป็นผู้ที่มีความชำนาญในวิชาชีพเริ่มเดือดร้อนแล้ว

จากการสำรวจของสื่อวงการกฎหมายอย่าง Corporate Counsel พบว่า 40% ของนิติกรประจำบริษัทยักษ์ใหญ่ ในสหรัฐฯ กว่า 100 แห่ง พึ่งพา Technology Assisted Review หรือที่เราคุ้นหูกับคำว่า TAR คือการทบทวนข้อมูลด้วยความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีและจักรกล มีความสามารถอ่าน คิดวิเคราะห์ เทียบเคียงการปรับตัวบทกฎหมาย ได้ใกล้เคียงกับนักกฎหมายหรือทนายความเลยทีเดียว เทคโนโลยี TAR ทำให้ในอนาคตอันใกล้ไม่จำเป็นต้องจ้างนักกฎหมายมานั่งอ่านเอกสารหลายล้านฉบับอีกต่อ เพราะมีหุ่นยนต์ที่มีมันสมองที่มีประสิทธิภาพ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์สามารถทำแทนได้

ในมุมมองของผม ยังคงเชื่อและมั่นใจว่า อาชีพนักกฎหมายหรือทนายความคงยังไม่ตายง่าย ๆ จริงอยู่…เครื่องจักรมีความชาญฉลาดมากขึ้น แต่มันยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถทำได้เหมือนมนุษย์ มันไม่สามารถเข้าถึงจิตใจได้ ไม่มีลูกล่อ ลูกชน ไม่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และพลิกแพลงไม่เก่งเหมือนนักกฎหมายที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นช่องว่างที่เทคโนโลยีจะล้ำหน้าแค่ไหนก็ไม่อาจเติมเต็มได้เลย ทำให้มั่นใจได้เกือบ 100% ว่า “ทนายความ” ตัวจริง ยังคงมีความจำเป็นอยู่

แต่ก็อย่านิ่งนอนใจไป “นักกฎหมาย” ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการล้ำเส้นของเทคโนโลยี

 

———————————————

คอลัมน์ : ตรวจแนวรบ ดิจิตอล /หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3238 ระหว่างวันที่ 23-25 ก.พ. 2560