ลงทุนนอก3.9แสนล. ยอดปี59เพิ่มพรวด2เท่า อนาคตโตต่อลุยอาเซียน

24 กุมภาพันธ์ 2560
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทุนไทยทะลักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง ภูมิภาคอาเซียนครองแชมป์หลัง 11เดือนแรก กวาด 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากมูลค่ารวม 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 3.9 แสนล้านบาท เผยเวียดนามฐานผลิตส่งออกไทยยอดโต 600%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมวลความเคลื่อนไหวการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (TDI) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ซึ่งไม่รวมการลงทุนในประเทศพวก Tax haven ได้แก่ Cayman, British virgin และ Mauritius) คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคหลักที่ผู้ประกอบการไทยเลือกออกไปลงทุนด้วยมูลค่าการลงทุนโดยตรงกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวกว่า 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเน้นการลงทุนที่สิงคโปร์ เวียดนาม และสปป.ลาว เป็นหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในแง่ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยและอัตราการขยายตัว เวียดนามนับเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจและมาแรงในปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวกว่า 6 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากขนาดตลาดผู้บริโภคภายในประเทศกว่า 90 ล้านคน ซึ่งส่งผลทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับค้าปลีกสนใจเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซี เวียดนามของกลุ่มเซ็นทรัล

ส่วนแนวโน้มการลงทุนของไทยในเวียดนามปี 2560 ยังมีทิศทางสดใสต่อเนื่องโดยเฉพาะแผนการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองแนวโน้มการลงทุนโดยตรงที่หลั่งไหลเข้าเวียดนามสำหรับเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก อาทิ การลงทุนด้านพลังงานของ บริษัทกฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนลฯ หรือการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะ คอปอร์เรชั่น(AMATA)หรือแม้กระทั่งการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนาม อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร

ส่วนมูลค่าการควบรวมกิจการ (M&A) ของไทยในอาเซียนปี 2559 อยู่ที่ราว 527 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (นับเฉพาะรายการที่ควบรวมเรียบร้อยแล้วหรือรอควบรวมและมีรายละเอียดมูลค่ารายงาน) ลดลงจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ราว 2,075 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้มูลค่า M&A รวมจะลดลงแต่จำนวนธุรกรรมที่ออกไป M&Aในอาเซียนนับว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับได้ว่าอาเซียนก็ยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจลงทุน ส่วนจำนวนดีลอยู่ที่ 12 ดีล เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ 11 ดีล โดยคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อดีลอยู่ที่ 43.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 188.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมที่ไทยเข้าไป M&Aในอาเซียนที่น่าสนใจ จะอยู่ที่การเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าลงทุนในกิจการ E-Commerce ของผู้ประกอบการไทยใน Start-up ที่สิงคโปร์ การลงทุนธุรกิจICT ที่สปป.ลาว และการลงทุนในโลจิสติกส์ที่สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งการลงทุนในธุรกิจสุขภาพ (Healthcare)ในมาเลเซีย

[caption id="attachment_131762" align="aligncenter" width="503"] สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มลูกค้าขนาดใหญ่ในช่วง 1-2 เดือนแรกเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าภาคการก่อสร้างภาครัฐ เช่นเดียวกับลูกค้าที่ให้ความสนใจไปลงทุนในต่างประเทศทยอยเข้ามาเช่นกัน ซึ่งลูกค้าที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศในเฉพาะกลุ่ม AEC+3 จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และภาคการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อขยายกิจการ สร้างโรงงาน และขยายฐานลูกค้าในประเทศที่ไปลงทุน เพราะจะเห็นว่ากำลังซื้อมีค่อนข้างมาก เช่น กัมพูชา

ส่วนธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พบว่ามีอัตราการเติบโตเช่นเดียวกัน โดยจะเป็นกลุ่มลูกค้าจีนที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ในกลุ่มรถยนต์ และโซลาเซลส์ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นว่าปีนี้การเติบโตของลูกค้ารายใหญ่มีทั้งการลงทุนในประเทศและลูกค้าต่างประเทศที่เข้ามา ซึ่งภาพรวมน่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน

“แนวโน้มการควบรวมกินกิจการ หรือ M&A เริ่มมีสัญญาณให้เห็นบ้างแล้ว แต่จะเกิดขึ้นจริงกี่ดีลขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส แต่เริ่มกระเตื้องขึ้นจากปีก่อนที่ชะลอการลงทุน หากภาครัฐเดินหน้าได้เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยแนวโน้ม M&A ในต่างประเทศจะเป็นดีลไซซ์ใหญ่ และดีลในประเทศจะเกิดขึ้นเยอะกว่า แต่มูลค่าดีลจะไม่สูงมาก”

นายวีระพงศ์ ศุภเศรษฐ์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในปีนี้ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และยังแสวงหาการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศกลุ่มที่มีการลงทุนและเติบโตชัดเจนจะอิงอยู่กลับกลุ่มโครงการภาครัฐ รับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง

ส่วนกลุ่มที่ยังขยายการลงทุนในต่างประเทศ จะเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานเงินทุนแข็งแรง จะเห็นว่ากลุ่มนี้ยังคงขยายการเติบโตในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่เห็นการย้ายฐานการผลิตของลูกค้าขนาดใหญ่จำนวนมาก

สำหรับเป้าหมายการเติบโตกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าเติบโต 1.5 เท่าของจีดีพี จากยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท จากฐานลูกค้า 1,000 ราย โดยเฉลี่ยลูกค้ามียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการใช้วงเงินของลูกค้าขนาดใหญ่ จะเป็นวงเงินเพื่อการลงทุนมากกว่าเงินทุนหมุนเวียน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตลาดตั๋วแลกเงิน (B/E) ปีนี้ค่อนข้างมีปัญหา ทำให้ลูกค้าหันมาใช้วงเงินธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560