ทูตแคนาดามั่นใจ สหรัฐฯยังต้องการพันธมิตรการค้า

24 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆของสหรัฐอเมริกา กล่าวคือมูลค่าการค้าระหว่างแคนาดาและสหรัฐฯนั้นอยู่ที่ระดับ 662,000 ล้านดอลลาร์ฯ มากเป็นอันดับสองรองจากการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กระนั้นก็ตามแคนาดานับเป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่รองรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทั้งหมดของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.37 แสนล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐฯ ปี 2015)

เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ประกาศจะรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า ที่สหรัฐฯทำไว้กับแคนาดาและเม็กซิโก ตั้งแต่ปี 2537 เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีกับแคนาดาและเม็กซิโก และเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกลับคืนสู่สหรัฐฯ ความไม่แน่นอนก็พลันบังเกิดขึ้น มีการคาดคะเนถึงผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการรื้อฟื้นข้อตกลงนาฟต้า หากประธานาธิบดีสหรัฐฯจะทำเช่นนั้นจริงๆ อย่างไรก็ตามในการพบปะหารือเบื้องต้นระหว่างผู้นำสหรัฐฯและแคนาดาที่มีขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ สัญญาณเชิงลบยังไม่ปรากฏมากนัก

นางสาวมาเรีย หลุยส์ ฮันนาห์เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำภูมิภาคอาเซียน ณ สำนักงานใหญ่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับเป็นความสำเร็จสำหรับประเทศแคนาดา หลังจากที่นายจัสตินทรูโด นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น ผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ที่มีความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะในสื่อแคนาดาเอง ว่าการประชุมระหว่าง 2 ผู้นำทั้ง 2 ประเทศที่ค่อนข้างมีทัศนคติที่ไม่ตรงกันในครั้งนี้ จะเป็นไปอย่างราบรื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่น่าจับตามองจากการที่นายทรัมป์ ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารให้เดินหน้าแผนการก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐฯ รวมไปถึงคำสั่งเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่และปฏิเสธผู้อพยพจากต่างชาติ

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า การหารือระหว่างสองผู้นำเป็นไปอย่างราบรื่น บรรยากาศในการประชุมมีความเป็นกันเอง สร้างสรรค์ โดยทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยกันถึงประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งนายทรัมป์ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศจะยังคงเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งตลอดไป ทั้งในเรื่องของความมั่นคง ความปลอดภัย รวมถึงการเคารพในความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน

“สำหรับนายกรัฐมนตรีจัสตินทรูโด ถือว่าประสบความสำเร็จในการพบกันครั้งนี้ การที่แคนาดาจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ก็คงเป็นการที่ไม่มีกำแพงแบ่งกั้นเขตแดนระหว่างกันส่วนความคิดเห็นที่อาจจะยังไม่ตรงกัน ก็คงต้องปรึกษาหารือ ให้บรรลุเป้าหมายของทั้ง 2 ประเทศต่อไป”เอกอัครราชทูตของประเทศแคนาดากล่าวเสริม

ผู้นำทั้ง 2 ประเทศยังมีท่าทีร่วมกันในการผลักดันให้ผู้หญิงมีบทบาทในภาคธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือเพื่อปรับปรุงให้มีความทันสมัย ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ หลังจากที่มีมานานเกือบ 25 ปี ซึ่งก็ถึงเวลาที่ต้องพัฒนาข้อตกลงดังกล่าว แต่เขาก็ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องตำแหน่งงานและความมั่งคั่งไว้ภายในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

“ประเทศแคนาดามองว่านี่เป็นโอกาสในการเจราจาและทำงานร่วมกันในข้อตกลงดังกล่าว แม้กระบวนการจะใช้เวลา เนื่องจากหลายร้อยล้านตำแหน่งงานในสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับการค้าขายกับประเทศแคนาดา ซึ่งประเทศเราไม่เพียงเป็นซัพพลายเออร์ ผลิตสินค้าป้อนให้กับสหรัฐฯ แต่เรายังเป็นลูกค้าซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ ซึ่งตรงนี้เองคิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้าใจและจะยังคงเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ดีต่อกันต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560