ถก300โรงงานคุมมาตรฐาน สางปัญหาส่งออกผัก-ผลไม้3ตลาดใหญ่

24 ก.พ. 2560 | 07:00 น.
สมาคมผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ เตรียมถกปัญหาส่งออกไปยัง 3 ตลาดใหญ่ จีน เกาหลี+ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป หลังที่ผ่านมาพบคู่ค้าแจ้งยังมีปัญหาสารตกค้างสูง โดยเฉพาะผักทั้ง ผักชี กะเพรา พริกไปตลาดอียูยังถูกคุมเข้มสุ่มตรวจ ป้องส่งออกวูบระยะยาว

สินค้าพืชผัก ผลไม้เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก (ปี 2559 มีการส่งออกรวม 6.27 หมื่นล้านบาท)แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องสารตกค้างทำให้เสียภาพลักษณ์

นายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในต้นเดือนมีนาคมนี้ทางสมาคมซึ่งสมาชิกมีโรงงานผลิตรวมกันประมาณ 300 โรงงาน จะนัดหารือถึงปัญหา อุปสรรคและความเดือดร้อนในการส่งออกสินค้าทั้งปัญหาต้นทางในประเทศ และปลายทางในต่างประเทศ เพื่อสรุปและหาแนวทางออกต่อไป

ทั้งนี้ปัญหา/อุปสรรคสำคัญในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องสารตกค้างและสิ่งปนเปื้อนในสินค้าผัก เช่น กะเพรา โหระพา พริก คะน้า กวางตุ้ง ที่สินค้าไทยยังถูกคุมเข้มในการตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหภาพยุโรป(อียู)

สำหรับปัญหาที่เกิดจากต้นทางของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลจากไทยยังมีห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บในการตรวจหาสารตกค้างที่มีความละเอียดสูงมีจำนวนน้อย โดยปัจจุบันมีห้องแล็บของส่วนราชการที่สามารถตรวจหาสารตกค้างได้มากกว่า 200 ชนิดขึ้นไปมีเพียง 2 แห่ง และค่าบริการก็สูงมากประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อตัวอย่าง และแล็บของส่วนราชการก็ไม่ค่อยรับงานเอกชน เพราะงานก็ล้นมือ และใช้เวลาตรวจนานถึง 2 เดือนค่อยมารับผล

ขณะเดียวกันในการส่งออกพืชผักไปตลาดอียูจะมีปัญหามากกว่าตลาดอื่น จากส่วนหนึ่งมีสารเคมีที่อียูเลิกใช้แล้วส่งมาขายในไทย เมื่อไทยส่งออกสินค้าไปขายอียูซึ่งห้องแล็บปลายทางมีความละเอียดสูงสามารถตรวจสารตกค้างได้มากกว่า 500 ชนิด สินค้าไทยก็ถูกห้ามนำเข้า โดยมาหักค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบจากผู้ส่งออก ซึ่งห้องแล็บในยุโรปก็คิดค่าบริการที่แพงมากราว 3 หมื่นบาทต่อตัวอย่าง ส่วนการส่งออกผลไม้ไทยไปซึ่งมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ มีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ก็ยังมีปัญหาเรื่องสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย ต้องส่งไปเวียดนามเพื่อแปลงสัญชาติเป็นสินค้าเวียดนามเข้าไปจีนแทนเพราะไม่ถูกตรวจเข้ม "นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจากหน่วยราชการของไทย ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์เพิ่มเติมเป็นจำนวนมากที่ไม่เอื้อต่อการส่งออก ดังนั้นเราจะนัดหารือผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ใน 3 ตลาดใหญ่ข้างต้นว่าจะหาทางออกกันอย่างไร เพื่อยังคงอาชีพไว้"

สอดคล้องกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม259 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศผลการพิจารณาแก้ไขมาตรการสุ่มตรวจเข้มในสินค้าพืชผักครั้งที่ 25(รีวิวครั้งที่ 25) อย่างเป็นทางการใน EU Official Journal L 327/50 ระบุ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ยังคงเป็นมาตรการเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (Review ทุก 6 เดือน)

ทำให้สรุปภาพรวมการตรวจเข้ม ผักจากไทย ณ ปัจจุบันคือ 1. อียู คงการตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ 20% ในผัก 2 ประเภท คือ ผักในกลุ่มมะเขือและถั่วฝักยาวจากไทย และ 2. คงการตรวจหาสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ระดับ 10% ในพริกจากไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560