ส่องธุรกิจ...ผ่านวัฏจักรอุตสาหกรรม (ตอน1)

23 ก.พ. 2560 | 11:08 น.
ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ นอกจากผู้ประกอบการจะต้องมีทักษะการบริหารเงิน การจัดการตลาด และการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ดีแล้ว สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ผู้ประกอบการจะต้องทราบว่าภาวะธุรกิจของตนเองในสถานะปัจจุบันอยู่ในสภาวะแวดล้อมธุรกิจอย่างไร เพื่อให้สามารถนำทักษะการบริหารที่มีอยู่ไปกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมทันสถานการณ์ โดยหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้ทราบถึงภาวะและแนวโน้มธุรกิจของอุตสาหกรรมคือ "การวิเคราะห์วัฏจักรอุตสาหกรรม" ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ทำการศึกษาวัฏจักรอุตสาหกรรมของไทยโดยใช้ข้อมูลย้อนหลังกว่า 23 ปี (2536-2559) พบว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยหนึ่งวัฏจักรจะกินเวลาประมาณ 5 ปี โดยช่วงขาขึ้นจะกินเวลาประมาณ 3 ปี นานกว่าช่วงขาลงที่กินเวลาประมาณ 2 ปี และศึกษาเจาะลึกว่าในปี 2560 แต่ละอุตสาหกรรมตกอยู่ในช่วงวัฏจักรอุตสาหกรรมใด มีลักษณะอย่างไร เพื่อให้สามารถอธิบายแนวโน้มของอุตสาหกรรมในอนาคตได้ และเสนอแนะแนวทางการนำกลยุทธ์ทางธุรกิจมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัฏจักรอุตสาหกรรมนั้น โดยให้ผลการศึกษาดังนี้

[caption id="attachment_131765" align="aligncenter" width="503"] ส่องธุรกิจ...ผ่านวัฏจักรอุตสาหกรรม (ตอน1) ส่องธุรกิจ...ผ่านวัฏจักรอุตสาหกรรม (ตอน1)[/caption]

อุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเติบโต (Growth Stage) ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก ข้าว และผลิตภัณฑ์ยางพารา ลักษณะของวัฏจักรช่วงนี้ เป็นช่วงที่ยอดขายกำลังเติบโต ต้นทุนเฉลี่ยต่ำ ระดับกำไรเพิ่มขึ้น และเริ่มมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น เพราะเห็นโอกาสของตลาด ทั้งนี้การดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมในช่วงวัฏจักรนี้คือ การเร่งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการโฆษณาและสร้างความแตกต่างของสินค้าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในยามที่ตลาดกำลังอยู่ในช่วงเติบโต

อุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงสูงสุด (Peak Stage) ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ ลักษณะของวัฏจักรช่วงนี้ เป็นช่วงที่ยอดขายยังเติบโตได้ดี ต้นทุนต่ำ มีระดับกำไรสูงสุด แต่คู่แข่งมีเยอะขึ้น เพราะมีแรงจูงใจเนื่องจากการเติบโตของตลาด และเนื่องจากช่วงวัฏจักรนี้มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมคือ การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ลูกค้าเห็นได้อย่างชัดเจน ผ่านการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ ยกตัวอย่าง ธุรกิจการผลิตเครื่องดื่มซึ่งจัดว่ากำลังอยู่ในช่วงสูงสุดของวัฏจักร ผู้ประกอบการจะต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ จากการผลิตเครื่องดื่มลักษณะทั่วไปที่มีอยู่ในตลาดจำนวนมากเปลี่ยนเป็นการผลิตเครื่องดื่มที่มีความแตกต่างมากขึ้น โดยอาจหันไปผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมรักสุขภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560