'สมชาย'ชูนิรโทษกรรม ปลดล็อกสู่ปรองดอง

23 กุมภาพันธ์ 2560
ในระหว่างที่กระบวนการปรองดองกำลังเดินหน้า มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้สะท้อนความเห็นว่า ควรนิรโทษกรรมให้ผู้บริสุทธิที่ติดร่างแหจากเหตุการณ์ไม่สงบต่างๆ และไม่ลืมที่จะให้กำลัง “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ในการทำภารกิจครั้งสำคัญของชาติครั้งนี้

 ชี้ทางออกแก้ขัดแย้ง

อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 กล่าวถึงปฐมบทของความขัดแย้งว่าเริ่มมีขึ้นช่วงปี 2549 นับแต่มีการปลุกม็อบที่สวนลุมพินี จนถึงการเกิดรัฐประหาร ในสมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมองว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นใหญ่ และมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกา หรือกรณีเกิดยุบสภา กติกาบอกไว้ว่าต้องเลือกตั้งใหม่ ประชาชนชอบใครก็เลือกเข้ามา แต่ยังไม่ทันไปถึง เกิดความขัดแย้งก่อน

จนถึงยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ปัญหาเรื่องแบ่งแยกสียังมีอยู่ และมีรัฐประหารอีกรอบ คนที่ไม่ชอบรัฐประหารก็มี หรือชอบรัฐประหารก็มี ประเทศเราต้องเอากติกาคือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แต่รัฐประหารไม่ใช่กติกา อย่างไรก็ตามเมื่อมีรัฐบาลจากรัฐประหารแล้วบ้านเมืองเรียบร้อยก็ไม่ว่ากัน

สมชาย มองว่า เมื่อประเทศมีวิกฤติย่อมมีทางออกแน่นอน เพราะความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากคนเพียง 1 หรือ 2 คนแต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ วิธีปรองดองก็ใช่ทางออก แต่การปรองดองต้องทำกันทั้งประเทศ ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เช่น พรรคการเมืองก็ต้องร่วมมือกัน ขณะเดียวกันทางรัฐบาลต้องเปิดใจกว้างให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ยอมรับได้ทุกฝ่าย คนที่ทำผิดแล้วได้รับโทษก็ไม่เป็นไร แต่คนไม่ผิดแต่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับการเมืองแล้วถูกลงโทษก็ควรขอโทษกัน และให้อภัยกัน

“ความขัดแย้งที่ผ่านมาประเด็นมากมายมหาศาล ความขัดแย้งทางการเมืองมันไม่ได้ผิดไม่ได้ถูก ถ้าผ่านไปแล้วน่าจะมีนิรโทษกรรมด้วย แต่ฟังจากรัฐบาลบอกว่าไม่มีนิรโทษ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผมเพียงให้ความเห็น ไม่ใช่ผู้ตัดสิน”

 แนะนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์

อดีตนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าถ้าคำว่าปรองดองเป็นเพียงนามธรรม หรือพิธีกรรม ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่นานวงจรเดิมก็จะกลับมา บ้านเมืองก็ไม่เรียบร้อยอีก การที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำเรื่องปรองดองครั้งนี้ทุกคนสนับสนุน แต่ต้องทำให้จริงจัง ทำด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ทำเพียงให้จบเรื่องกันไปใครได้ประโยชน์ยังคงมีอยู่อย่างนั้นไม่ได้

นอกจากนั้น คนที่อยู่เฉยๆแล้วถูกจับ ติดร่างแหไปด้วยควรให้อภัย เพราะคนเหล่านั้นมานั่งประท้วงเพราะเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เขาท้อใจ ถ้าคนใดมีมูลว่าเป็นคนหยิบปืนมายิง ต้องยอมรับว่าทำผิด การที่รัฐบาลบอกว่าไม่มีนิรโทษ คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องให้เขา ส่วนคนทำผิดก็ต้องถือกติกาของบ้านเมือง ต้องดูเป็นเรื่องๆไป ขณะเดียวกันคนที่ถูกกล่าวหาว่าผิด ให้ไปดูขบวนการยุติธรรม เพราะขบวนการยุติธรรมมีหลายอัน ทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อัยการ ศาล ให้ย้อนไปดูว่าบางครั้งเหตุการณ์มันบีบรัด ทำให้ผลมันออกมาเป็นอย่างนั้น ปรองดองจึงต้องละเอียดอ่อน ไม่ต้องรีบร้อน ทำให้ทุกอย่างสะเด็ดน้ำ ที่สำคัญคนที่ทำควรมีองค์ความรู้เรื่องการปรองดอง ตามหลักสากลทำกันอย่างไร ในโลกนี้อย่าคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น หรือเราเก่งแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่ใช่ อย่างศาลยังมี 3 ศาล มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

“ เคยมีคนถามว่า การปรองดองคือการนิรโทษกรรมใช่ไหม ผมบอกไม่ใช่ การปรองดองคือการมองถึงเงื่อนแง่ทุกฝ่ายในสิ่งที่ยังขบเหลี่ยมกัน แต่นิรโทษกรรมควรเป็นส่วนหนึ่งของปรองดอง สุดท้ายมันต้องมาลงตรงนั้น แต่ถ้ารัฐบาลไม่เอาตรงนั้นมาดำเนินการผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ เป็นเพียงความเห็นของผมว่า บางครั้งหากมีคนที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วถูกตราหน้าว่าผิดก็ต้องเอามาใช้ ซึ่งหลักนิรโทษกรรมสากลเขาก็มีใช้กัน ผู้ดำเนินการทุกชุดต้องศึกษาให้มีความรู้ถ่องแท้ว่าต้องทำอย่างไร ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน ถ้าเขาจบแล้วเราจะได้ขึ้นมามีอำนาจ คิดอย่างนี้จบตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ”

  ให้กำลังใจ“ประวิตร”

อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่าการทำปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ต้องดูตอนจบตอนนี้ยังพูดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผมยินดีที่ พล.อ.ประวิตร เสียสละมาทำเรื่องนี้ ผมให้กำลังใจท่าน แต่ขอให้ทำอย่างจริงจังและวางใจให้เป็นกลาง ผมคิดว่า พล.อ.ประวิตร คงเป็นอย่างนั้น คนเป็นหัวเรือใหญ่ตั้งอยู่ในสถานะที่แน่วแน่และเที่ยงตรงกันก็สำเร็จได้ ถ้าประสบความสำเร็จท่านจะเป็นฮีโร่ของประชาชน และเป็นบุญเป็นกุศลแก่คนทั้งประเทศ

การที่พรรคการเมืองเข้าแสดงความเห็นกับคณะกรรมการปรองดองชุดที่ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ส่วนใหญ่มีทหารเป็นกรรมการ ไม่ใช่ทหารทำปรองดองไม่เก่ง แต่ควรจะมีนักวิชาการที่เป็นกลางและตัวแทนจากทุกภาคส่วน พรรคการเมืองใครจะเสนออะไรก็เสนอไป จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่มีใครว่า เพียงแต่อย่าก่อเรื่องเพิ่มเท่านั้น

“ถ้ารัฐบาลโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นอยากให้งานใหญ่ประสบความสำเร็จ ต้องเปิดใจรับฟัง ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่บางคนพูดเสมอว่า ปัญหาเกิดจากการเมือง ถ้าพูดอย่างนี้การทำงานจะสะดุดแต่ต้น แต่ควรพูดว่าไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากใครก็ตาม แต่วันนี้ขอให้มาช่วยกันทำให้สำเร็จ แต่มาโทษว่านักการมืองเลว นักการเมืองขี้โกง นักการเมืองชั่ว มันก็เสียกำลังใจตั้งแต่วันแรกแล้ว

ขณะที่นักการเมืองก็สวนว่าข้าราชการคนนั้นคนนี้ไม่ดี ก็โยนกันไปมา ไม่มีประโยชน์ ถ้าจะปรองดองกันขอให้ลืมตรงนี้ไปก่อน ใครดีใครชั่วลืมไปก่อน คนที่ไม่ดีเอากฎหมายจัดการ เอาขบวนการยุติธรรมจัดการแบบตรงไปตรงมา อย่าละเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรืออย่าไปเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ใครผิดให้ขอโทษ เพราะความไม่เป็นธรรมทำให้เกิดปัญหากับการทำให้เกิดความปรองดองในประเทศ ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน พูดแบบมีปิยะวาจา ใครพูดมาต้องฟัง คนทำหน้าที่เป็นกลางจึงเหนื่อยมาก จึงอยากให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆขอให้พูดจากันด้วยมิตรภาพ”

แนะศึกษาแนวทางต่างประเทศ


นายสมชาย ให้ข้อเสนอแนะแนวทางปรองดองเพิ่มเติมว่า เรื่องปรองดองไม่ใช่มีเฉพาะบ้านเรา ที่ทำในต่างประเทศก็มีทำกัน และควรมีหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล เช่น มีคณะกรรมการที่เป็นกลาง ต้องดำเนินการอย่างไร และต้องนิรโทษหรือไม่ มีโมเดลจากหลายประเทศน่าจะไปดู เลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่าใช่และเหมาะกับประเทศไทย ที่พูดเพราะอยากให้การปรองดองครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เพราะความขัดแย้งทำให้เสียหายแก่ทุกฝ่าย

ที่ให้ดูหลักสากลหมายถึงต้องดูเป็นตัวอย่างไม่ต้องนำมาใช้เป็นหลักตายตัว ลองศึกษาปัญหาความขัดแย้งในประเทศเขา นำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับเรา เช่น แอฟริกา มีความขัดแย้งภายในประเทศ มีการตกลงกันให้ต่างฝ่ายต่างหยุดทะเลาะ หรือ นิรโทษกรรม เช่น ประเทศเมียนมา ปล่อยนักโทษการเมืองจำนวนมาก มันก็จบกันไป

สิ่งสำคัญของการปรองดองคือ ไม่ต้องรวบรัดเรื่องเวลา โดยไม่คำนึงถึงประเด็นที่ตกค้าง ถ้าเร่งก็เป็นการทำที่ไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าสำเร็จก็ดีใจกับรัฐบาลด้วย เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่อยากให้สำเร็จ อย่าลืมว่าประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้มีประชาธิปไตยเต็มที่แล้วก็ตาม มันต้องมีฝ่ายการเมือง ต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีกฎหมายเลือกตั้ง
นักการเมืองที่เสนอตัวให้ประชาชนเลือก ประชาชนกลั่นกรองและให้ประชาชนลงโทษได้ ตรวจสอบได้ ยังมีปัญหา บางครั้งที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่นมีรัฐประหาร ส.ส.ก็ทำได้ยาก เราควรคิดว่าทุกคนเท่าเทียมกัน

พร้อมกับแนะนำอีกว่า ในสังคมบ้านเรา คนรวย หมื่นล้านกับคนมีเงิน 3,000 บาท ควรท่าเทียมกัน เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน คนเคยติดคุกติดตะรางออกมากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีก็มี คนที่เคยรุ่งเรืองกลับไปอยู่ตะรางก็เยอะ ที่เป็นรัฐมนตรีก็มีเยอะแยะ ผมจึงอยากให้มองทุกอย่างให้เป็นธรรม เปิดใจให้แก่กัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560