ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ครองแชมป์จ้างงานในสหรัฐฯ

23 กุมภาพันธ์ 2560
ขณะที่การสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานถ่านหินยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงและถูกคัดค้านในหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากปัญหาการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมซึ่งกระทบกับสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง การแสวงหาแหล่งพลังงานที่สะอาดกว่า ปลอดภัยกว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเข้ามาทดแทน จึงเป็นกระแสที่จะเข้ามาแทนที่ มีการศึกษาวิจัยในหลากหลายด้านเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงด้านการจ้างงานว่าจะเป็นที่พึ่งพิงทางใหม่ให้กับคนในชุมชน แทนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินได้ด้วยหรือไม่

TP31-3238-1 โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดเป็นพลังงานทางเลือกยอดนิยมในเวลานี้ ล่าสุดได้มีการเผยแพร่ผลการสำรวจโดยมูลนิธิ The Solar Foundation ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกามีการจ้างงานในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมากกว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมถ่านหินเป็นจำนวนกว่า 2 เท่า นั่นหมายถึงตัวเลขการจ้างงานมากกว่า 2.6 แสนคน ด้วยอัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ย 25.96 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง ผลการสำรวจพบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ทุกๆการจ้างงานใหม่ 50 ตำแหน่งในสหรัฐฯ จะเป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด 1 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในทุก 50 มลรัฐของสหรัฐอเมริกา มีการจ้างงานแรงงานหญิง 28% แรงงานชาย 72% มีความคาดหมาย (จากการตอบแบบสอบถามของบริษัทที่อยู่ในฐานะผู้จ้างงาน) ว่าภายในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการจ้างงานเพิ่มเฉลี่ย 10%

TP31-3238-3 แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด แต่อุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็มีการจ้างงานบุคลากรมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินถึง 2 เท่า และมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 3 เท่า มีแต่เพียงอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปิโตรเลียมเท่านั้นที่มีการจ้างงานมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังจะสามารถลดลงได้อีก หากลดจำนวนบุคลากรที่ใช้ลง ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้แรงงานคนในการผลิตเฉลี่ยต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง มากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานรูปแบบอื่นทั้งหมด ดังนั้น หากต้องการลดต้นทุนลงอีกในอนาคต จึงอาจจำเป็นต้องนำเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์มาใช้ในบางส่วนของงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560