เปิดแนวรบป้ายโฆษณาLED ไอซ์ฯปั้นแบรนด์ไทยครบวงจรสู้ศึกต่างชาติ

22 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
ไอซ์ แอลอีดี ปรับแผนลดสัดส่วนธุรกิจป้ายโฆษณาเปิดเกมสร้างแบรนด์ “ไอซ์ แอลอีดี” แจ้งเกิดจอแอลอีดีและแอลอีดีไลติ้ง เจาะกลุ่มลูกค้าโครงการทั้ง สนามกีฬางานประชุมสัมมนา หวังปั้นรายได้เติบโต 100%

นายพิเชษฐ เกลี้ยงมะ ประธาน บริษัท ไอซ์ แอลอีดี จำกัด และบริษัท ไอซ์ คัลเลอร์พริ้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสื่อ LED และธุรกิจป้ายโฆษณาภายใต้แบรนด์ "ไอซ์ แอลอีดี" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนงานของบริษัทนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มธุรกิจไลต์ติ้ง (แอลอีดีส่องสว่าง) หลังจากที่ผ่านมาเน้นผลิตจอแอลอีดี (แอลอีดี สกรีน) จอแอลอีดีแสดงผลขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าสามารถสร้างรายได้มั่นคงแล้ว ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีทีผ่านมาบริษัทได้หันมาพัฒนาในกลุ่มธุรกิจแอลอีดีไลต์ติ้ง โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้ไฟเยอะๆต้องการกำลังไฟสูงๆตั้งแต่ 50-1,000 วัตต์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไฟสนามฟุตบอล เป็นต้น ซึ่งนับจากนี้จะมีการเดินหน้าสร้างแบรนด์ "ไอซ์ แอลอีดี" ให้เติบโตในตลาด โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตลาดภายในประเทศเป็นอันดับแรก เนื่องจากมองว่าผู้เล่นหลักหรือการแข่งขังในกลุ่มธุรกิจแอลอีดีปัจจุบันยังเป็นรูปแบบการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลักกว่า 90% และบางส่วนเป็นรูปแบบของการนำเข้ามาประกอบ ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนที่ผลิตเองภายในประเทศนับว่าน้อยมากกว่า

"ในส่วนธุรกิจป้ายโฆษณาของบริษัทภายหลังที่มีการปรับลดสัดส่วนลง จากภาพรวมตลาดโฆษณาที่ลดลงบริษัทจึงหันมารุกทำตลาดในส่วนของแอลอีดีแทน พร้อมกับปรับลดสาขาจากเดิมที่มีพริ้นติ้ง 6 แห่งเหลือ 3 แห่งและเปลี่ยนเป็นโชว์รูมแอลอีดี 3 แห่ง เพื่อรุกเข้าไปในธุรกิจแอลอีดีเต็มรูปแบบทั้งในส่วนของจอแอลอีดี และโคมไฟแอลอีดี"

โดยได้มีการก่อตั้งโรงงานผลิตจอแอลอีดี (เต็มระบบแห่งแรกของไทย) ไปเมื่อปลายปี 2555 ภายใต้งบประมาณ 160 ล้านบาทในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พร้อมเดินเครื่องการผลิตต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจจอแอลอีดีบิลบอร์ดขนาดใหญ่ งานจอภาพในร่ม (อินดอร์) เช่น ห้องประชุม สัมมนา ไลน์การผลิตในโรงงานหลักเน้นซัพพอร์ตธุรกิจในเครือทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทไอซ์แอลอีดี จำกัด เพื่อผลิตจำหน่ายตรงให้กับซัพพลายเออร์ ,ไอซ์ คัลเลอร์พริ้นท์ งานเซอร์วิส และไอซ์แอลอีดีสปอร์ต รุกธุรกิจงานประเภทกีฬา และระบบไฟส่องสว่าง โดยคิดสัดส่วนโออีเอ็ม 20-25% ซึ่งบริษัทมองว่าได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ถูกกว่า ขณะที่เรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่น้อยไปกว่า และหากเทียบสินค้าในกลุ่มเดียวกันกับสินค้าของบริษัทถูกกว่าคู่แข่งในสินค้าคุณภาพเดียวกัน 30-40% แต่ถ้าเป็นสินค้าราคาเดียวกันบริษัทจะมีคุณภาพสูงกว่าสินค้าอื่น

"เพราะบริษัทมีโรงงานผลิตแอลอีดีของตัวเอง ส่งผลให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากบริษัทมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่าแบรนด์ใหญ่แบรนด์อื่นจากการมีโรงงานผลิตเองในประเทศ ขณะที่แอลอีดีบางรายการมีราคาใกล้เคียงกับหลอดแบบเดิม ซึ่งอุปสรรคที่มีคือการทะลักเข้ามาของสินค้าจากประเทศจีนที่ต้องยอมรับว่าบางรายไม่มีคุณภาพ แต่มีราคาถูกนั่นคือสิ่งที่เราต้องสร้างตลาดขึ้นมาและแยกตัวเองออกจากกลุ่มดังกล่าว โดยเน้นให้ความสำคัญกับการให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายเรื่องของคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขายมากกว่าเรื่องราคา"

ขณะที่แผนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจะเน้นรูปแบบการสร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของความเป็นสินค้าคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน นอกจากนี้ยังมีการร่วมบูธงานแฟร์ต่างๆ โดยล่าสุด งาน "Thailand Energy Efficiency Week 2017" บนพื้นที่จัดงาน 2.5 หมื่นตารางเมตร ถือเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติด้านการประหยัดพลังงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ควบคู่กับการบริการที่ครบวงจร นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการเป็นของตัวเอง 3 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งแผนงานในอนาคตจะขยายศูนย์บริการผ่านตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ต่อไป เบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายที่จะเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 100% เนื่องจากเป็นช่วงระหว่างการสร้างแบรนด์ ทำให้สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560